โครงการแปลพระสูตรมหายานจีน-ไทยเฉลิมพระเกียรติ 崇聖大乘佛經中泰翻譯組
ข้อมูลการติดต่อ, แผนที่และเส้นทาง,แบบฟอร์มการติดต่อ,เวลาเปิดและปิด, การบริการ,การให้คะแนนความพอใจในการบริการ,รูปภาพทั้งหมด,วิดีโอทั้งหมดและข่าวสารจาก โครงการแปลพระสูตรมหายานจีน-ไทยเฉลิมพระเกียรติ 崇聖大乘佛經中泰翻譯組, องค์กรศาสนา, 88 หมู่1 ตำบล หอมเกร็ด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม, Nakhon Pathom.
崇聖大乘佛經中泰翻譯組
The Chinese-Thai Mahāyāna Sūtra Translation Project in Honour of His Majesty the King
and
中泰漢傳佛教文化交流中心
The Chinese-Thai Center for the Study and Exchange of Mahāyāna Buddhist Culture of China ความเป็นมาของโครงการแปลพระสูตรมหายานจีน-ไทยเฉลิมพระเกียรติ
และ ศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมพุทธศาสนามหายานจีน-ไทย
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
กรรมวิภังค์ว่าด้วยการประพฤติผิดในกาม
善男子!若復有人,樂為邪婬,是人不能護自他身,一切眾生見皆生疑,所作之事,妄語在先,於一切時常受苦惱,心常散亂,不能修善,喜失財物,所有妻子心不戀慕,壽命短促:是名邪婬現在惡果。捨此身已,處在地獄,受惡色力,飢渴長命,無量苦惱:是名後世惡業果報。若得人身,惡色、惡口,人不喜見,不能守護妻妾男女。是一惡人因緣力故,一切外物不得自在。善男子!是五惡法,汝今真實能遠離不?』
กุลบุตร ! อนึ่งบุคคลใดเป็นผู้มีความยินดีในการประพฤติผิดในกาม ฯ บุคคลนั้นก็ย่อมไม่สามารถป้องกันร่างกายของตนเองและแม้แต่ของผู้อื่นได้ ฯ สรรพสัตว์ทั้งหลายได้เห็นก็จะเกิดความสงสัย ฯ ก็ด้วยสิ่งที่เขาได้กระทำ ฯ นั้นคือ กล่าวคำอันเป็นเท็จ ซึ่งกล่าวไปก่อนหน้านี้ ฯ ในตลอดเวลาเขาจักได้รับความทุกข์อยู่เสมอ ฯ จิตใจของเขาจักกังวลคิดฟุ้งซ่านอยู่เป็นนิตย์ ฯ ไม่สามารถทำกิจอันเป็นกุศลให้เจริญขึ้นได้ ฯ พอใจที่จะสูญเสียทรัพย์สิน ฯ ภรรยาไม่มีใจรักใคร่เสน่หา ฯ มีอายุสั้น ฯ นี้แหละคือ ผลแห่งอกุศลกรรมของการประพฤติผิดในกามที่จักได้รับในปัจจุบัน ๚
ครั้นเมื่อคราวสละร่างกายนี้ทิ้งเสียแล้ว ฯ ย่อมตกลงไปในนรก ฯ จักได้รับซึ่งการมีรูปลักษณ์ผิวพรรณทรามและอ่อนกำลัง ฯ มีชีวิตที่ยาวนานด้วยความหิวกระหาย ฯ เสวยทุกขเวทนาอันประมาณมิได้ ฯ นี้คือ ผลแห่งอกุศลกรรมที่จักได้รับในปรโลก ๚
หากกลับมาเกิดได้เป็นมนุษย์อีกครั้ง ฯ ก็จักมีรูปลักษณ์ผิวพรรณทราม ฯ มีปากร้าย ฯ บุคคลอื่นรังเกียจเมื่อพบเห็น ฯ ไม่สามารถปกป้องภรรยาคู่ครอง บุตรชายหญิงของตนได้ ๚ และเพราะด้วยอำนาจแห่งเหตุปัจจัยอันเป็นอกุศลของบุคคลผู้นี้ ฯ จักมีส่วนทำให้บรรดาสรรพสิ่งภายนอกทั้งปวงไร้อิสระในตนเอง ๚
กุลบุตร ! อกุศลธรรม ๕ ประการนี้ บัดนี้เธอจักสามารถ
ละเว้นได้อย่างเด็ดขาดหรือไม่ ?
บางส่วนจาก อุปาสกศีลสูตร ปริเฉทที่ ๑๔ ว่าด้วยการรับศีล ในหนังสือตรีวิธานศีล
กรรมวิภังค์ว่าด้วยการดื่มสุราเมรัย
善男子!若復有人樂飲酒者,是人現世喜失財物,身心多病,常樂鬪諍,惡名遠聞,喪失智慧,心無慚愧,得惡色力,常為一切之所呵責,人不樂見,不能修善:是名飲酒現在惡報。捨此身已,處在地獄,受飢渴等無量苦惱:是名後世惡業之果。若得人身,心常狂亂,不能繫念思惟善法。是一惡人因緣力故,一切外物資產臭爛。
กุลบุตร ! อนึ่งบุคคลใดเป็นผู้มีความยินดีในการดื่มสุราเมรัย ฯ บุคคลนั้นในโลกปัจจุบันนี้ ย่อมเป็นผู้พอใจที่จะสูญเสียทรัพย์สิน ฯ มีโรคมากทั้งทางกายและทางใจ ฯ มีความพอใจที่จะทะเลาะวิวาทอยู่เป็นนิตย์ ฯ เกียรติยศเสื่อมเสียมีเรื่องอันน่าอับอายเลื่องลือไปไกล ฯ สูญเสียปัญญา ฯ มีจิตไร้ซึ่งความละอายและเกรงกลัวบาป ฯ มีรูปลักษณ์ผิวพรรณทรามและอ่อนกำลัง ฯ ถูกตำหนิติเตียนจากทุกคนอยู่เสมอ ฯ บุคคลอื่นรังเกียจเมื่อพบเห็น ฯ ไม่สามารถทำกิจอันเป็นกุศลให้เจริญขึ้นได้ ฯ นี้แหละคือ ผลแห่งอกุศลกรรมของการดื่มสุราเมรัยที่จักได้รับในปัจจุบัน ๚
ครั้นเมื่อคราวสละร่างกายนี้ทิ้งเสียแล้ว ฯ ย่อมตกลงไปในนรก ฯ จักได้รับซึ่งความหิวกระหายทุกข์ทรมานอันประมาณมิได้ ฯ นี้แหละคือ ผลแห่งอกุศลกรรมที่จักได้รับในปรโลก ๚
หากกลับมาเกิดได้เป็นมนุษย์อีกครั้ง ฯ ก็จักเป็นบ้า มีจิตไม่สมประกอบอยู่เป็นนิตย์ ฯ ไม่สามารถควบคุมสติให้คิดใคร่ครวญในกุศลธรรมได้ ๚ และเพราะด้วยอำนาจแห่งเหตุปัจจัย อันเป็นอกุศลของบุคคลผู้นี้ ฯ จักมีส่วนทำให้บรรดาสรรพสิ่งภายนอกทั้งปวงมีทรัพย์สินและความมั่งคั่งเสื่อมสูญสลายไป ๚
บางส่วนจาก อุปาสกศีลสูตร ปริเฉทที่ ๑๔ ว่าด้วยการรับศีล ในหนังสือตรีวิธานศีล
กรรมวิภังค์ว่าด้วยการกล่าวคำอันเป็นเท็จ
善男子!若復有人樂於妄語,是人現得惡口、惡色,所言雖實,人不信受,眾皆憎惡,不喜見之:是名現世惡業之報。捨此身已,入於地獄,受大苦楚,飢渴熱惱:是名後世惡業之報。若得人身,口不具足,所說雖實,人不信受,見者不樂,雖說正法,人不樂聞。是一惡人因緣力故,[1]外物一切資產減少。
กุลบุตร ! อนึ่งบุคคลใดที่มีความยินดีในการกล่าวคำอันเป็นเท็จ ฯ บุคคลนั้นย่อมได้รับซึ่งคำดูหมิ่นหยาบคาย ฯ มีรูปลักษณ์ผิวพรรณทราม ฯ ถึงแม้ว่าเขาจักกล่าวความจริงก็ตาม บุคคลอื่นก็ไม่ยอมรับเชื่อถือ ฯ หมู่ชนทั้งหลายก็จักเกลียดชัง ฯ เป็นที่น่ารังเกียจเมื่อได้พบเห็น ฯ นี้แหละคือ ผลแห่งอกุศลกรรมที่จักได้รับในโลกปัจจุบัน ๚
ครั้นเมื่อคราวสละร่างกายนี้ทิ้งเสียแล้ว ฯ ย่อมตกลงไปในนรก ฯ รับความทุกข์เจ็บปวด หิวกระหาย ทรมานแสนสาหัส ฯ นี้แหละคือ ผลแห่งอกุศลกรรมที่จักได้รับในปรโลก ๚
หากกลับมาเกิดได้เป็นมนุษย์อีกครั้ง ฯ ก็จักมีปากพิการ ฯ หรือถึงแม้ว่าเขาจักกล่าวความจริงก็ตาม ฯ บุคคลอื่นก็ไม่ยอมรับเชื่อถือ ฯ เป็นที่รังเกียจจากผู้พบเห็น ฯ สุดแม้แต่การกล่าวแสดงพระธรรมอันแท้จริง ฯ บุคคลอื่นก็จักไม่ยินดีที่จะฟัง ๚ และเพราะด้วยอำนาจแห่งเหตุปัจจัยอันเป็นอกุศลของบุคคลผู้นี้ ฯ จักมีส่วนทำให้บรรดาสรรพสิ่งภายนอกทั้งปวงมีทรัพย์สินและความมั่งคั่งลดน้อยถอยลง ๚
บางส่วนจาก อุปาสกศีลสูตร ปริเฉทที่ ๑๔ ว่าด้วยการรับศีล ในหนังสือตรีวิธานศีล
กรรมวิภังค์ว่าด้วยการลักขโมย
[3 ]若人樂偷,是人亦得惡色、惡力、惡名、短命、財物秏減,眷屬分離,他人失物於己生疑,雖親附人人不見信,常為賢聖之所呵責:是名現在惡業之果。捨此身已,墮於地獄,受得惡色、惡力、惡名、飢渴、苦惱、壽命長遠:是名後世惡業之果。若得人身,貧於財物,雖得隨失,不為父母、兄弟、妻子之所愛念,身常受苦,心懷愁惱。是一惡人因緣力故,一切人民凡所食噉不得色力,是人惡果殃流萬姓。
อนึ่งบุคคลใดที่มีความยินดีในการลักขโมย ฯ บุคคลนั้นย่อมมีรูปลักษณ์ผิวพรรณทราม ฯ มีกำลังน้อย ฯ มีเกียรติเสื่อมเสีย ฯ มีอายุสั้น ฯ มีทรัพย์สมบัติเสื่อมถอย ฯ มีครอบครัวแตกแยกกัน ฯ บุคคลอื่นทำทรัพย์สิ่งของหาย แต่เขาจะถูกสงสัย ฯ แม้แต่ผู้คนใกล้ชิดสนิทสนมกันก็จักไม่ไว้วางใจเชื่อถือ ฯ ปราชญ์บัณฑิตพระอริยะเจ้าตำหนิติเตียนอยู่เป็นนิตย์ : นี้แหละคือ ผลแห่งอกุศลกรรมที่จักได้รับในปัจจุบัน ๚
ครั้นเมื่อคราวสละร่างกายนี้ทิ้งเสียแล้ว ฯ ย่อมตกลงไปในนรก ฯ จักมีรูปลักษณ์ผิวพรรณทราม ฯ มีกําลังน้อย ฯ มีความอับอาย ฯ มีความหิวกระหาย ฯ เสวยทุกขเวทนา ฯ มีอายุยืนดำรงชีพอยู่อย่างยาวนาน ฯ นี้แหละคือ ผลแห่งอกุศลกรรมที่จักได้รับในปรโลก ๚
หากกลับมาเกิดได้เป็นมนุษย์อีกครั้ง ฯ ก็จักมีฐานะยากจนอีก ทรัพย์สินสมบัติแม้ได้มาแล้วก็จักหมดไปเสียสิ้น ฯ อีกทั้งจักไม่ได้รับความรักใคร่จากบิดามารดา พี่น้อง ภรรยาของเขา ฯ จักรับความทุกข์กายเป็นนิตย์ ฯ และในจิตจักมีแต่ความโศกเศร้าและความเดือดร้อนรำคาญใจอยู่เสมอ ๚
และเพราะด้วยอำนาจแห่งเหตุปัจจัยอันเป็นอกุศลของบุคคลผู้นี้ ฯ จักมีส่วนให้ประชาชนชาวโลกทั้งปวงที่บริโภคขบเคี้ยวอาหารแล้วจักไม่ได้รับรูปร่างดีมีกำลังกาย ฯ ความวิบัติแห่งอกุศลวิบากของบุคคลผู้นี้ย่อมไหลไปทั่วทั้งหมู่ชนในสกุลทั้งหลายนับหมื่น ๚
กรรมวิภังค์ว่าด้วยการฆ่า
一切眾生因殺生故,現在獲得惡色、惡力、惡名、短命、財物秏減,眷屬分離,賢聖呵責,人不信用,他人作罪橫[1]羅其殃:是名現在惡業之果。捨此身已,當墮地獄,多受苦惱、飢渴、長命、惡色、惡力、惡名等事:是名後世惡業之果。若得人身,復受惡色、短命、貧窮。是一惡人因緣力故,令外一切五穀果蓏悉皆減少,是人殃流及一天下。
ก็เพราะการพรากชีวิต เป็นเหตุทำให้สรรพสัตว์ทั้งปวง ฯ ในปัจจุบันชาติย่อมมีรูปลักษณ์ผิวพรรณทราม ฯ มีกำลังน้อย ฯ มีเกียรติเสื่อมเสีย ฯ มีอายุสั้น ฯ มีทรัพย์สมบัติเสื่อมถอย ฯ มีครอบครัวแตกแยกกัน ฯ ปราชญ์บัณฑิตพระอริยะเจ้าตำหนิติเตียน ฯ ทำให้บุคคลอื่นไม่เคารพนับถือ ฯ บุคคลอื่นกระทำความผิด แต่ตนจะติดร่างแหรับความวิบัติแทน ฯ นี้แหละคือ ผลแห่งอกุศลกรรมที่จักได้รับในปัจจุบัน ๚
ครั้นเมื่อคราวสละร่างกายนี้ทิ้งเสียแล้ว ฯ ย่อมตกลงไปในนรก ฯ เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัส ฯ มีความหิวกระหาย ฯ มีชีวิตยาวนาน ฯ มีรูปลักษณ์ผิวพรรณทราม ฯ มีกําลังน้อย ฯ มีความอับอาย อย่างนี้เป็นต้น ฯ นี้แหละคือ ผลแห่งอกุศลกรรมที่จักได้รับในปรโลก ๚
หากกลับมาเกิดได้เป็นมนุษย์อีกครั้ง ฯ จักมีรูปลักษณ์ผิวพรรณทราม ฯ อายุสั้น ฯ ยากจน ๚ และเพราะด้วยอำนาจแห่งเหตุปัจจัยอันเป็นอกุศลของบุคคลผู้นี้ ฯ จักเป็นเหตุที่มีส่วนให้ ธัญญชาติ ๕ ประการ พืชผลและผลไม้ทั้งสิ้นทั้งปวงให้ผลน้อย ฯ ความวิบัติของบุคคลผู้นี้ย่อมไหลไปทั่วทั้งใต้หล้าฟ้า ๚
บางส่วนจาก อุปาสกศีลสูตร ปริเฉทที่ ๑๔ ว่าด้วยการรับศีล ในหนังสือตรีวิธานศีล
๑.๖ การบูชาทิศเบื้องบน
「[1]言上方者,即是沙門、婆羅門等,若有供養沙門、婆羅門衣服、飲食、房舍、臥具、病[2]痛醫藥,怖時能救,饉世施食,聞惡能遮,禮拜恭敬,尊重讚歎,是人則能供養上方。是出家人以五[3]種事報:一者、教令生信,二者、教生智慧,三者、教令行施,四者、教令持戒,五者、教令多聞。
อันคำว่า ทิศเบื้องบน นั้น ฯ ได้แก่ เหล่าสมณะและพราหมณ์ ฯ หากบุคคลใดสามารถบูชาสมณพราหมณ์ ด้วยจีวรเครื่องนุ่งห่ม ฯ ด้วยภัตตาหารเครื่องดื่ม ฯ ด้วยกุฏิวิหาร ฯ ด้วยเสนาสนะ ฯ ด้วยการดูแลรักษาพยาบาลถวายยา เมื่อท่านอาพาธเจ็บป่วย ฯ ด้วยการปกป้องคุ้มครองท่าน เมื่อยามมีภัย ฯ แม้คราวเกิดกันดารอาหารขึ้นในโลก ก็จักยังถวายภัตตาหารอยู่ ฯ ด้วยการไม่นำความที่เป็นอกุศลให้ท่านได้ยิน ฯ ด้วยการเคารพกราบไหว้ ฯ ด้วยความนอบน้อมยกย่องสรรเสริญ ฯ
อันบุคคลนั้นย่อมกระทำการบูชาซึ่งทิศเบื้องบนได้อย่างนี้ ๚ ผู้เป็นบรรพชิตเหล่านี้ จักอนุเคราะห์ตอบด้วย ๕ ประการ ได้แก่ :
๑. สั่งสอนให้เกิดความศรัทธา ฯ
๒. สั่งสอนให้เกิดปัญญา ฯ
๓. สั่งสอนให้หมั่นทำทาน ฯ
๔. สั่งสอนให้รักษาศีล ฯ
๕. สั่งสอนให้เป็นพหูสูตร(ในพระธรรม) ๚
「若有供養是六方者,是人則得增長財命,能得受持優婆塞戒。
อนึ่ง บุคคลใดกระทำการบูชาทิศทั้ง ๖ แล้วฯ บุคคลนั้นย่อมได้รับความเจริญขึ้นในโภคทรัพย์และมีอายุยืนยาว ฯ และสามารถสมาทานซึ่งอุบาสกศีลได้ ๚
บางส่วนจาก อุปาสกศีลสูตร ปริเฉทที่ ๑๔ ว่าด้วยการรับศีล ในหนังสือตรีวิธานศีล
๑.๕ การบูชาทิศเบื้องล่าง
「[1]言下方者,即是奴婢,若[2]有人能供給奴婢衣服、飲食、病瘦醫藥,不罵不打,是人則能供[3]給下方。奴婢復以十事報之:一者、不作罪過,二者、不待教作,三者、作必令竟,四者、疾作[4]不令失時,五者、主雖貧窮終不捨離,六者、早起,七者、守物,八者、少恩多報,九者、至心敬念,十者、善覆惡事。
อันคำว่า ทิศเบื้องล่าง นั้น ฯ ได้แก่ ข้าทาสบริวาร ฯ หากบุคคลใดสามารถอุปการะข้าทาสบริวาร ด้วยเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ฯ ด้วยอาหารเครื่องดื่ม ฯ ด้วยการดูแลรักษาให้ยาเมื่อป่วยไข้ซูบผอม ฯ ด้วยการไม่ดุด่าไม่ทุบตี ฯ อันบุคคลนั้นย่อมกระทำการบูชาซึ่งทิศเบื้องล่างได้อย่างนี้ ๚ ข้าทาสบริวารจักกระทำการตอบแทนด้วย ๑๐ ประการ ได้แก่ :
๑. ไม่กระทำความผิด ฯ
๒. รู้จักทำงานเองโดยไม่ต้องรอให้สั่ง ฯ
๓. ทำงานเสร็จเรียบร้อย ฯ
๔. ทำงานทันทีโดยไม่ปล่อยให้เสียเวลา ฯ
๕. ไม่ทอดทิ้งนายแม้นายจะยากจนลง ฯ
๖. ตื่นเช้า ฯ
๗. รักษาทรัพย์สิน ฯ
๘. ได้รับเมตตาแม้เพียงเล็กน้อยก็จักตอบแทนมากกว่า ฯ
๙. เคารพเชื่อฟังและระลึกถึงอย่างจริงใจ ฯ
๑๐. ปกปิดความผิดพลาดของนายเป็นอย่างดี ๚
บางส่วนจาก อุปาสกศีลสูตร ปริเฉทที่ ๑๔ ว่าด้วยการรับศีล ในหนังสือตรีวิธานศีล
๑.๔ การบูชาทิศเหนือ
「[1]言北方者,即善知識,若有人能供施善友,任力與之,恭敬軟言,禮拜讚歎,是人則能供養北方。是善知識復以四事而還報之:一者、教修善法,二者、令離惡法,三者、有恐怖時能為救解,四者、放逸之時能令除捨。
อันคำว่า ทิศเหนือ นั้น ฯ ได้แก่ กัลยาณมิตร ฯ หากบุคคลใดมีน้ำใจสามารถช่วยเหลือแก่มิตรที่ดี ฯ ด้วยกับการแบ่งปันช่วยเหลือตามความสามารถ ฯ เคารพนับถือซึ่งกันและกัน เจรจากันด้วยถ้อยคำไพเราะ ฯ แสดงความเคารพด้วยการไหว้ ยกย่องชมเชยกัน ฯ อันบุคคลนั้นย่อมกระทำการบูชาซึ่งทิศเหนือได้อย่างนี้ ๚ กัลยาณมิตรจักกระทำการตอบแทนด้วย ๔ ประการ ได้แก่ :
๑. ชักนำและปลูกฝังด้วยกุศลธรรม ฯ
๒. พาหลีกหนีจากอกุศลธรรม ฯ
๓. เมื่อเวลามีภัย จักช่วยปกป้องคุ้มครองให้พ้นภัย ฯ
๔. เมื่อเวลาที่ทำการประมาทใด จักบอกกล่าวกันให้ละเว้นเสียได้ ๚
บางส่วนจาก อุปาสกศีลสูตร ปริเฉทที่ ๑๔ ว่าด้วยการรับศีล ในหนังสือตรีวิธานศีล
๑.๓ การบูชาทิศตะวันตก
「 [1]言西方者,即是妻子,若有人能供給妻子衣服、飲食、臥具、湯藥、瓔珞、服飾、嚴身之具,是人則是供養西方。妻子復以十四事報[2]之:一者、所作盡心營之,二者、常作終不懈慢,三者、所作必令終竟,四者、疾作不令失時,五者、常為瞻視賓客,六者、淨其房舍臥具,七者、愛敬,言則柔軟,八者、僮使軟言教詔,九者、善能守護財物,十者、晨起夜寐,十一者、能設淨食,十二者、能忍教誨,十三者、能覆惡事,十四者、能瞻病苦。
อันคำว่า ทิศตะวันตก นั้น ฯ ได้แก่ ภรรยา ฯ หากบุคคลใดสามารถอุปการะภรรยา ด้วยเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ฯ ด้วยอาหารเครื่องดื่ม ฯ ด้วยที่นั่งที่นอน ฯ ด้วยน้ำร้อนและยา ฯ ด้วยแก้วแหวนกำไลสายสร้อย ฯ ด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องประดับ ฯ ซึ่งเป็นสิ่งของสำหรับตกแต่งกาย ฯ อันบุคคลนั้นย่อมกระทำการบูชาซึ่งทิศตะวันตกได้อย่างนี้ ๚ ภรรยาจักกระทำการตอบแทนด้วย ๑๔ ประการ ได้แก่ :
๑. ทำหน้าที่ด้วยความตั้งใจ ทำอย่างสุดความสามารถ ฯ
๒. ทำหน้าที่อย่างสม่ำเสมอไม่เกียจคร้าน ฯ
๓. เมื่อทำกิจใดแล้ว ย่อมต้องทำให้เสร็จสิ้น ฯ
๔. เมื่อทำกิจใดแล้วทำทันที ไม่ปล่อยให้เสียเวลา ฯ
๕. ดูแลต้อนรับแขกผู้มาเยี่ยมเยือน(ของสามี)อยู่เสมอ ฯ
๖. ทำความสะอาดบ้านเรือน ที่นั่งที่นอน ฯ
๗. รักเคารพเชื่อฟัง พูดด้วยวาจาอ่อนหวาน ฯ
๘. แม้ในบ่าวรับใช้(ของสามี) ก็ว่ากล่าวสั่งการด้วยวาจานุ่มนวล ฯ
๙. เก็บรักษาทรัพย์สมบัติอย่างดี ฯ
๑๐. ตื่นแต่เช้าและเข้านอนดึก ฯ
๑๑. เตรียมอาหารที่สะอาดไว้ให้กิน ฯ
๑๒. สามารถอดทนรับฟังคำแนะนำตักเตือน[ของสามี] ฯ
๑๓. ปกปิดความผิดพลาด[ของสามี] ฯ
๑๔. สามารถดูแลกันยามป่วยไข้ ๚
บางส่วนจาก อุปาสกศีลสูตร ปริเฉทที่ ๑๔ ว่าด้วยการรับศีล ในหนังสือตรีวิธานศีล
๑.๒ การบูชาทิศใต้
「[1]言南方者,即是師長,若有人能供養師長衣服、飲食、臥具、湯藥,尊重、讚歎、恭敬禮拜,早起晚臥,受行善教,是人則能供養南方。是師復以五事報之:一者、速教不令失時,二者、盡教不令不盡,三者、勝己不生妬嫉,四者、[2]將付嚴師善友,五者、臨終捨財與之。
อันคำว่า ทิศใต้ นั้น ฯ ได้แก่ ครูอาจารย์ ฯ หากบุคคลใดสามารถบูชาครูอาจารย์ ด้วยเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ฯ ด้วยอาหารเครื่องดื่ม ฯ ด้วยที่นั่งที่นอน ฯ ด้วยน้ำร้อนและยา ฯ ด้วยความนอบน้อม ฯ ด้วยการยกย่องสรรเสริญ ฯ ด้วยการกราบไหว้ทำความเคารพ ฯ จงตื่นเช้านอนดึก ฯ เพื่อที่จะรับเอาคำสั่งสอนอันดีนำไปปฏิบัติตาม ฯ อันบุคคลนั้นย่อมกระทำการบูชาซึ่งทิศใต้ได้อย่างนี้ ๚ ครูอาจารย์จักอนุเคราะห์ตอบด้วย ๕ ประการ ได้แก่ :
๑. กระตือรือร้นที่จะสอน ไม่ปล่อยให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ฯ
๒. สั่งสอนจนหมดสิ้นทุกประการ ไม่เหลือสิ่งใด ที่ไม่ได้สอน ฯ
๓. ปราศจากความอิจฉาริษยาเมื่อศิษย์เก่งกว่าตน ฯ
๔. จักส่งไปหาครูอาจารย์ผู้ชำนาญและมิตรที่ดีต่อไป ฯ
๕. เมื่อจบแล้วจักให้ทรัพย์กลับคืน ฯ
บางส่วนจาก อุปาสกศีลสูตร ปริเฉทที่ ๑๔ ว่าด้วยการรับศีล ในหนังสือตรีวิธานศีล
การบูชาทิศทั้ง ๖
๑.๑ การบูชาทิศตะวันออก
「善男子!在家菩薩若欲受持優婆塞戒,先當次第供養六方:東方、南方、西方、北方、下方、上方。言東方者,即是父母,若[1]人有能供養父母衣服、飲食、臥具、湯藥、房舍、財寶,恭敬、禮拜、讚歎、尊重,是人則能供養東方。父母還以五事報之:一者、至心愛念,二者、終不欺誑,三者、捨財與之,四者、為娉上族,五者、教以世事。
กุลบุตร !หากคฤหัสถ์โพธิสัตว์ประสงค์สมาทานซึ่งอุบาสกศีล ฯ พึงทำการบูชาทิศทั้ง ๖ ไปตามลำดับเสียก่อน : คือ ทิศตะวันออก ฯ ทิศใต้ ฯ ทิศตะวันตก ฯ ทิศเหนือ ฯ ทิศเบื้องล่าง ฯ และทิศเบื้องบน ๚
อันคำว่า ทิศตะวันออก นั้น ฯ ได้แก่ บิดามารดา ฯ หากบุคคลใดสามารถบูชาบิดามารดา ด้วยเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ฯ ด้วยอาหารเครื่องดื่ม ฯ ด้วยที่นั่งที่นอน ฯ ด้วยน้ำร้อนและยา ฯ ด้วยบ้านเรือน ฯ ด้วยทรัพย์สมบัติ ฯ ด้วยความเคารพเชื่อฟัง ฯ ด้วยการกราบไหว้ ฯ ด้วยการยกย่องสรรเสริญ ฯ ด้วยความนอบน้อม ฯ อันบุคคลนั้นย่อมสามารถกระทำการบูชาซึ่งทิศตะวันออกได้อย่างนี้ ๚ บิดามารดาจักอนุเคราะห์ตอบกลับด้วย ๕ ประการ ได้แก่ :
๑. รักบุตรอย่างจริงใจ ฯ
๒. จักไม่หลอกลวงบุตรอย่างแน่นอน ฯ
๓. ให้ทรัพย์สมบัติแก่บุตร ฯ
๔. สู่ขอหมั้นหมายกับผู้มีตระกูลดีให้ ฯ
๕. อบรมสั่งสอนบุตรในกิจการทางโลก ๚
บางส่วนจาก อุปาสกศีลสูตร ปริเฉทที่ ๑๔ ว่าด้วยการรับศีล ในหนังสือตรีวิธานศีล
การสังคายนาที่กัศมีระ
---------------------------
佛涅槃後四百年 迦膩色迦王贍部
ภายหลังพุทธปรินิพพานล่วงมาได้ ๔๐๐ ปี
พระเจ้ากนิษกะพระราชาแห่งชาวชมพูทวีป
召集五百應真士 迦濕彌羅釋三藏
ทรงนิมนต์พระอรหันต์ ๕๐๐ ให้มาประชุม
ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกที่แคว้นกัศมีระ
其中對法毘婆沙 具獲本文今譯訖
ในบรรดาคัมภีร์วิภาษาว่าด้วยปรมัตถธรรมเหล่าใด
อันข้าพเจ้าได้พบต้นฉบับมาและแปลเสร็จสิ้นแล้วในวันนี้
願此等潤諸含識 速證圓寂妙菩提
ขอให้ธรรมเหล่านั้นจงชโลมใจแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
เพื่อให้บรรลุถึงพระนิพพานอันประเสริฐแลพระโพธิญาณโดยเร็วพลันเทอญ
จากนิคมคาถาของพระตรีปิฏกาจารย์เสวียนจั้ง (ถังซำจั๋ง) ในคัมภีร์อภิธรรมมหาวิภาษาศาสตร์ (阿毘達磨大毘婆沙論 : T1545 ) คัมภีร์วิภาษา หรืออรรถกถาพระอภิธรรมปิฎกนิกายสรรวาสติวาท ในผูกที่ ๒๐๐
----------------------------------------
พระเจ้ากนิษกะ หรือ กณิษกะ, กาณิษกะ พระโอรสแห่งพระเจ้าวีมะกัทผิเสส (หรือ วิมะกัลปิศะ) พระปรมาภิไธย ภาษากรีก-แบกเตรีย : ϷΑΟΝΑΝΟϷΑΟ ΚΑΝΗϷΚΙ ΚΟϷΑΝΟ [ŠAONANOŠAO KANIŠKI KOŠANO], สันสกฤต : 𑀫𑀳𑀸𑀭𑀸𑀚 𑀭𑀸𑀚𑀥𑀺𑀭𑀸𑀚 𑀤𑁂𑀯𑀧𑀼𑀢𑁆𑀭 𑀓𑀸𑀡𑀺𑀱𑁆𑀓 [มหาราช ราชธิราช เทวปุตฺร กาณิษฺก]
พระเจ้ากนิษกะ สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งจักวรรดิกุษาณะ พระองค์ที่ ๔ ขึ้นครองราชย์ ในราชวงศ์กุษาณะ เมื่อราว ค.ศ. ๑๒๗-๑๕๐ (พ.ศ. ๖๗๐-๖๙๓) ราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์ต่างชาติเดิมเป็นชนเร่ร่อน แต่เข้ามาปกครองบริเวณเอเชียกลางและอินเดียเหนือ โดยรับวัฒนธรรมอินโด-กรีก ผสมอิราเนียน เป็นวัฒนธรรมหลักในการขับเคลื่อนจักรวรรดิ และยังให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาเป็นพิเศษ ในรัชสมัยของพระองค์ มีเรื่องเล่าในบันทึกการเดินทางของพระเสวียนจั้ง (大唐西域記 : T2087) ระบุถึงการทำสังคายนาของนิกายสรรวาสติวาทที่กัศมีระ เมื่อท่านเดินทางถึงแคว้นนี้ กล่าวสรุป โดยยกส่วนสำคัญมาดังนี้
---------------------------
สาเหตุการทำสังคายนา
--------------------------
健馱邏國迦膩色迦王,以如來涅槃之後第四百年,應期撫運,王風遠被,殊俗內附。機務餘暇,每習佛經,日請一僧入宮說法,而諸異議部執不同。王用深疑,無以去惑。時脇尊者曰:「如來去世,歲月逾邈,弟子部執,師資異論,各據聞見,共為矛楯。」
พระเจ้ากนิษกะ พระเจ้าแผ่นดินแห่งแคว้นคันธาระ เสด็จสืบราชสมบัติได้รับซึ่งไอศวรรย์ หลังพระตถาคตเจ้าปรินิพพานล่วงมาแล้วได้ ๔๐๐ ปี พระองค์มีพระราชอำนาจแผ่ไพศาล หัวเมืองน้อยใหญ่ต่างยอมอ่อนน้อมสวามิภักดิ์
เมื่อทรงเว้นว่างจากพระราชกิจ พระองค์จักทรงศึกษาพระวจนะแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประจำ โดยจะเชิญภิกษุจำนวนหนึ่งรูปมาเพื่อแสดงพระธรรมเทศนาในเขตพระราชฐานทุกๆ วัน แต่เนื่องพระภิกษุมาจากนิกายต่างกัน จึงมีความเห็นไม่ตรงกัน
พระองค์ทรงรู้สึกสงสัยอย่างยิ่ง และไม่สามารถหาคำตอบให้คลายข้อกังขาได้ ขณะนั้นพระปารศวะเถระกล่าวว่า: 'เมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานล่วงไป เป็นเวลาช้านานแล้ว สาวกแตกแยกกันหลายนิกาย คณาจารย์ก็มีวาทะต่างกัน แต่ละคนยึดถือสิ่งที่ได้ยินและเห็น จนขัดแย้งกันดุจหอกกับโล่
----------------------------------------
時王聞已,甚用感傷,悲歎良久,謂尊者曰:「猥以餘福,聿遵前緒,去聖雖遠,猶為有幸,敢忘庸鄙,紹隆法教,隨其部執,具釋三藏。」脇尊者曰:「大王宿殖善本,多資福祐,留情佛法,是所願也。」王乃宣令遠近,召集聖哲。於是四方輻湊,萬里星馳,英賢畢萃,叡聖咸集。七日之中,四事供養。既欲法議,恐其諠雜。
เมื่อพระราชาได้ฟังเช่นนั้นแล้ว ทรงรู้สึกสลดพระทัยอย่างยิ่ง ทรงปริเทวนาการอยู่นาน แล้วตรัสกับพระเถระเจ้านั้นว่า :
“เพราะว่าโยมยังได้รับวิบากอันหยาบจากเศษแห่งบุญกุศลอยู่ จึงได้สืบราชสันตติวงศ์ต่อจากบูรพกษัตริย์ ทว่าโยมยังห่างไกลจากการเป็นพระอริยเจ้า แต่ก็ยังนับว่าโยมยังมีโชคอยู่ ที่โยมไม่กล้าที่จะละเลยความต่ำต้อยของตนในข้อนั้นได้ โยมขออุทิศตนเพื่อสืบทอดพระธรรมคำสอนให้เจริญขึ้น ตามแต่ละนิกายที่ได้ยึดถือมา โดยจักให้อธิบายความตามในพระไตรปิฎก”
พระปารศวะเถระกล่าวว่า : “มหาราชได้ปลูกฝั่งกุศลมูลมาแต่ปางก่อน สั่งสมบุญบารมีไว้มาก ทั้งยังสนพระทัยในพุทธธรรม และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่อาตมาปรารถนา”
พระราชาจึงทรงออกพระราชโองการไปทั้งใกล้และไกล นิมนต์พระอริยบุคคลผู้มีปัญญาให้มาประชุมกัน ในบัดนั้นมีผู้มาจากทิศทั้ง ๔ มาประชุมกันประดุจซี่ล้อที่มาบรรจบกันที่ดุ้มล้อ แม้ระยะทางยาวไกลนับหมื่นลี้ ท่านก็มาอย่างรวดเร็วดุจดาวตก บรรดาพระเถระผู้เป็นปราชญ์ปรีชาก็ได้มาประชุมกันอย่างพร้อมเพียงแล้ว ในสัปดาห์นั้นพระองค์ทรงถวายจตุปัจจัยไทยทาน แต่เมื่อจะทำการวิสัชนาพระธรรมะ ก็เกรงว่าความวุ่นวายจะเกิดขึ้น
----------------------------------------
王乃具懷白諸僧曰:「證聖果者住,具結縛者還。」如此尚眾。又重宣令:「無學人住,有學人還。」猶復繁多。又更下令:「具三明、備六通者住,自餘各還。」然尚繁多。又更下令:「其有內窮三藏、外達五明者住,自餘各還。」於是得四百九十九人。王欲於本國,苦其暑濕,又欲就王舍城大迦葉波結集石室。脇尊者等議曰:「不可。彼多外道,異論糺紛,酬對不暇,何功作論?眾會之心,屬意此國。此國四周山固,藥叉守衛,土地膏腴,物產豐盛,賢聖之所集往,靈僊之所遊止。」眾議斯在,僉曰:「允諧。」其王是時與諸羅漢自彼而至,建立伽藍,結集三藏,欲作《毘婆沙論》。
พระราชาจึงกราบเรียนต่อบรรดาคณะสงฆ์ทั้งหลายว่า : “ขอพระคุณเจ้ารูปใดบรรลุถึงอริยผลแล้วจงอยู่ต่อ ส่วนรูปใดยังมีกิเลสพันธนาการอยู่ โยมขอนิมนต์กลับก่อนเถิด”
แม้เช่นนี้ก็ยังมีพระภิกษุจำนวนมาก พระองค์จึงทรงออกประกาศซ้ำอีกครั้งว่า : “ขอพระคุณเจ้ารูปใด ที่เป็นพระอเสขบุคคล (พระอรหันต์สิ้นกิเลส) แล้วจงอยู่ต่อ ส่วนพระเสขบุคคล (โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี) โยมขอนิมนต์กลับก่อนเถิด”
ถึงกระนั้นก็ยังคงมีพระภิกษุจำนวนมาก พระองค์จึงทรงออกประกาศเพิ่มเติมอีกครั้งว่า: “ขอพระคุณเจ้ารูปใด สำเร็จวิชชา ๓ อภิญญา ๖ จงอยู่ต่อ ส่วนที่เหลือนิมนต์กลับ'"
แต่ก็ยังคงมีพระภิกษุจำนวนมาก พระองค์จึงทรงออกประกาศเพิ่มเติมอีกครั้งว่า: “ขอพระคุณเจ้ารูปใดเป็นผู้ทรงจำและเจนจบในพระไตรปิฎก และเข้าใจศาสตร์ภายนอกทั้ง ๕ ประการ จงอยู่ต่อ ส่วนที่เหลือนิมนต์กลับ”
สุดท้ายได้[พระอรหันต์]จำนวน ๔๙๙ รูป พระราชาประสงค์ให้มีการประชุมในแคว้นของพระองค์ แต่ขัดข้องด้วยสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยทั้งร้อนและชื้น ทรงดำริไปยังถ้ำหินที่เมืองราชคฤห์ซึ่งพระมหากัสสปะเคยทำการสังคายนา
พระปารศวะเถระและสงฆ์เหล่านั้นกล่าวว่า: “ไม่สมควร ที่นั่นมีเดียร์ถีย์ลัทธิภายนอกและพวกปรัปวาทมากมาย มีที่ความเห็นที่ขัดแย้งกันจนยุ่งเหยิง จักไม่มีเวลาตอบโต้กันแน่แท้ แล้วไฉนเลยจะมีเวลามาแต่งอรรถกถา ?
[หมายเหตุ : ในขณะนั้นคณะสงฆ์นิกายมหาสังฆิกะ มีอิทธิพลและเจริญในแคว้นมคธ อีกทั้งนิกายสรรวาสติวาทถือตัวเป็นฝ่ายสถวีรวาท จึงไม่ถูกกับนิกายมหาสังฆิกะ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงปาฏลีบุตร เมืองหลวงแห่งใหม่ของแคว้นมคธ (เมืองราชคฤห์ คือเมืองหลวงเก่า) ]
จิตใจของคณะสงฆ์ในการประชุมนี้ ต่างมุ่งมาที่แคว้นนี้ แคว้นนี้ล้อมรอบด้วยภูเขาที่มั่นคงทั้ง ๔ ด้าน มีพญายักษ์คอยปกป้อง ดินแดนอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร และเป็นสถานที่ที่เหล่าพระอริยเจ้าและเทพยดามาเยือนและพำนักอยู่'"
พระเถระทั้งปวงก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า : 'เห็นชอบ”' พระราชาพร้อมกับพระอรหันต์ทั้งหลายได้เดินทางมาสร้างสังฆารามขึ้นใหม่ ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก และปรารถนาจะแต่งคัมภีอภิธรรมมหาวิภาษาศาสตร์
-------------------------------
ประธานในการทำสังคายนา
------------------------------
การทำสังคายนาในครั้งนี้ ในเอกสารทางวิชาการในประเทศไทยกล่าวว่าเป็นการสังคายนาแบบผสม ระหว่างนิกายสรรวาสติวาทและมหายาน แต่จริงแล้วเป็นสังคายนาของฝ่ายสรรวาสติวาท เพียงอย่างเดียว โดยการทำสังคายนาทำเฉพาะพระไตรปิฎกของนิกายสรรวาสติวาท และไม่ได้ทำการสังคายนามหายานสูตรใดเลย
แต่การผสมนั้นหมายความถึงพระสังคีติกาจารย์ จำนวน ๕๐๐ รูป เป็นพระอรหันต์ ๔๙๙ รูปเป็นพระโพธิสัตว์ ๑ รูป
เรื่องเล่าในบันทึกการเดินทางของพระเสวียนจั้ง สรุปโดยย่อดังนี้
พระวสุมิตรครองจีวรมายืนอยู่นอกประตูสังฆารามที่กำลังจะทำสังคายนา พระวสุมิตรถูกตำหนิโดยเหล่าพระอรหันต์ว่า ท่านยังไม่สิ้นกิเลส จึงไม่สมควรปรากฏตัวในที่ประชุมสงฆ์ในครั้งนี้ และแนะนำให้พระวสุมิตรไปปลีกวิเวกปฏิบัติธรรม เพื่อบรรลุอรหันต์ผลเสียก่อน
แต่พระวสุมิตรตอบว่า ตนมีความเข้าใจในพระสัทธรรมและพระไตรปิฎกอย่างลึกซึ้ง แต่ปรารถนาพุทธภูมิ มิได้ต้องการอรหันตผล ครั้งนั้นเทวดาในสวรรค์เป็นพยานว่า พระวสุมิตรจะบรรลุพุทธผล และจะสืบทอดตำแหน่งพระศรีอาริยเมตไตรยในอนาคตต่อไป เมื่อเห็นดังนั้น เหล่าพระอรหันต์จึงขอโทษและยกย่องพระวสุมิตรให้เป็นพระเถระชี้ขาดในการทำสังคายนา
โดยการทำสังคายนานั้น นักวิชาการสันนิษฐานว่า เป็นการรวบรวมพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม ภาษาปรากฤต ในท้องถิ่นอินเดียเหนือ โดยเฉพาะภาษาปรากฤตคานธารี แล้วปริวรรตออกเป็นภาษาสันสกฤต อันเป็นภาษาราชการของจักรวรรดิกุษาณะ พร้อมแต่งคัมภีร์อรรถกถาขยายความ พระไตรปิฎกอีก ๓ คัมภีร์ ทำในสถานที่ชื่อว่า กุณฑลวันวิหาร (ปัจจุบันสันนิษฐานว่า คือหมู่พุทธสถาน Harwan Buddhist Monastery ชานเมืองศรีนคร รัฐชัมมูและแคชเมียร์)
-------------------------------
ผลของการทำสังคายนา
------------------------------
是五百賢聖,先造十萬頌《鄔波第鑠論》(舊曰《優波提舍論》,訛也)。釋《素呾纜藏》(舊曰《修多羅藏》,訛也)。次造十萬頌《毘柰耶毘婆沙論》,釋《毘奈耶藏》(舊曰《毘那耶藏》,訛也)。後造十萬頌《阿毘達磨毘婆沙論》,釋《阿毘達磨藏》(或曰《阿毘曇藏》,略也)。凡三十萬頌,九百六十萬言,備釋三藏,懸諸千古,莫不窮其枝葉,究其淺深,大義重明,微言再顯,廣宣流布,後進賴焉。
พระอริยเจ้า ๕๐๐ รูป ได้ร้อยกรอง คัมภีร์อุปเทศศาสตร์《鄔波第鑠論》๑ แสนคาถา (โบราณเรียกว่า 《優波提舍論》เป็นการออกเสียงผิด) เป็นอรรถกถาขยายความ พระสุตตันตปิฎก《素呾纜藏》 (โบราณเรียกว่า 《修多羅藏》 ซึ่งเป็นการออกเสียงผิด)
ได้ร้อยกรอง คัมภีร์วินัยวิภาษาศาตร์ 《毘柰耶毘婆沙論》๑ แสนคาถา เป็นอรรถกถาขยายความ พระวินัยปิฎก 《毘奈耶藏》(โบราณเรียกว่า 《毘那耶藏》 ซึ่งเป็นการออกเสียงผิด)
ได้ร้อยกรอง คัมภีร์อภิธรรมวิภาษาศาตร์ 《阿毘達磨毘婆沙論》๑ แสนคาถา เป็นอรรถกถาขยายความ พระอภิธรรมปิฎก 《阿毘達磨藏》 หรือเรียกย่อว่า 《阿毘曇藏》
รวม ๓ แสนคาถา เป็นจำนวน ๙ ล้าน ๖ แสนคำ ซึ่งได้อรรถาธิบายพระไตรปิฎก ที่ถูกสืบทอดมาอย่างยาวนาน มีเนื้อความประกอบไปด้วยเสมือนกิ่งก้านที่แตกแขนงมากมายจนมิอาจทราบความได้ การแจกแจงเนื้อความทั้งความง่ายและลึกซึ่งในครั้งนี้ ทำให้เห็นหลักใหญ่ชัดเจน ข้อความที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้จะถูกอธิบายอีกครั้ง และแพร่หลายออกไปให้กว้างขวาง เหล่าอนุชนจักได้อาศัยประโยชน์จากสิ่งนี้
迦膩色迦王遂以赤銅為鍱,鏤寫論文,石函緘封,建窣堵波,藏於其中。命藥叉神周衛其國,不令異學持此論出,欲求習學,就中受業。於是功既成畢,還軍本都。出此國西門之外,東面而跪,復以此國總施僧徒。
พระเจ้ากนิษกะรับสั่งให้นำแผ่นทองแดง มาจดจารจารึกข้อความเหล่านั้นไว้ จากนั้นจึงบรรจุลงในหีบศิลาและสร้างพระสถูปขึ้นมา เพื่อเก็บรักษาปิฎกไว้ในนั้น
พระองค์ยังได้มีพระบัญชาให้เหล่ายักษ์คอยป้องกันรักษาอาณาจักร เพื่อไม่ให้พวกเดียรถีย์นำคัมภีร์เหล่านี้ออกไป เพื่อไว้ให้เป็นที่ศึกษาหาความรู้จากคัมภีร์เหล่านี้
เมื่อทรงจัดสังคายนาสำเร็จลง ทรงเสด็จนิวัตพระนครหลวงของพระองค์ จากนั้นได้ออกไปยังประตูเมืองทางตะวันตก หันไปทางตะวันออกและทรงคุกพระชงฆ์ลง ถวายเมืองแก่คณะสงฆ์พร้อมบริษัททั้งปวง
------------------------------
ภาพในจินตนาการ พระเจ้ากนิษกะ สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งจักวรรดิกุษาณะ พร้อมหมู่ภิกษุในกัศมีระ พระเจ้ากนิษกะทรงครองผ้ากาษายะสำหรับฆราวาส ก่อนที่จะทรงศีล เมื่อจะสมาทานศีลจะเปลื้องเครื่องทรงออก ตามแบบประเพณีในพุทธศาสนาฝ่ายอินเดียเหนือ
ลิงก์สำหรับดาวน์โหลดไฟล์ PDF หนังสือของโครงการ
๑. พระสูตรอันเป็นพุทธพจน์ว่าด้วยอานิสงส์ของไตรสรณคมน์ ศีล ๕ เมตตาจิต และความเบื่อหน่าย (佛說三歸五戒慈心厭離功德經) จัดทำโดยคณะอาสาสมัคร ประกอบด้วย เกตุแก้ว สงวนเผ่า, ไกรพิชญ์ สุธรรมมาภรณ์, ชิษณุพงศ์ พยัฆศาสตร์, ธนกฤต พรหมศิริ, สาโรจน์ ศิริศันสนียกุล, อ.อนัตตา (นามปากกา)
๒. สมันตชญานครรภปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (普遍智藏般若波羅蜜多心經) แปลโดย สาโรจน์ ศิริศันสนียกุล, ธนกฤต พรหมศิริ ตรวจทานโดย ไกรพิชญ์ สุธรรมมาภรณ์ ,อ.อนัตตา (นามปากกา)
๓.พุทธาวตังสกะ มหาไวปุลยสูตร โคจรปาริศุทธิวรรค (大方廣佛華嚴經 淨行品) แปลโดย พระวิศวภัทร มณีปัทมเกตุ ตรวจทานโดย ธนกฤต พรหมศิริ
ดาวน์โหลดจากลิงก์นี้
https://independent.academia.edu/TheChineseThaiMah%C4%81y%C4%81naS%C5%ABtraTranslationProjectinHonourofHisMajestytheKing
มหายานปฏิเสธพระอภิธรรมดั้งเดิมหรือไม่?
ในสมัยโบราณ มหายานในอินเดียไม่ได้ถือเป็นนิกายอิสระ แต่เป็นแนวปฏิบัติหนึ่งในพระพุทธศาสนา ซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มภิกษุหลากหลายนิกายที่ดำเนินตามเส้นทางโพธิสัตวมรรค โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุพระนิพพานผ่านการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ภิกษุในแต่ละนิกายยังคงศึกษาพระไตรปิฎกตามสายอุปสมบทของตน ซึ่งรวมถึงพระอภิธรรมดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา ในบทความนี้จะกล่าวถึงพระอภิธรรมในลักษณะดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม มหายานมีการศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของ “มหายานสูตร” และยังมีอภิธรรมและคัมภีร์ศาสตร์ต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกันภายในมหายาน ซึ่งเรียกว่า "อภิธรรมมหายาน" โดยคัมภีร์เหล่านี้มีพื้นฐานมาจากพระอภิธรรมดั้งเดิมของหลายนิกาย
(ศาสตร์ หรือ ศาสตระ คือคัมภีร์ประเภทอภิธรรม รวมถึงคัมภีร์อรรถกถา ปกรณ์วิเศษที่อธิบายความ หรือแต่งตามนัยแห่งอภิธรรม และมหายานศาสตร์แยกแนวคิดของศาสตร์เป็น ๒ แนวคิดคือ มาธยมิก และโยคาจาร)
โดยพระอภิธรรมดั้งเดิมนี้ อาจถูกเรียกว่า "มูลอภิธรรม" หรือในภายหลังอาจถูกเรียกว่า "อภิธรรมหินยาน" เพื่อให้มีความชัดเจนในการแยกแยะออกจาก “อภิธรรมมหายาน”
แนวปฏิบัติอย่างนี้ก็ยังยึดถือกันมาจนในยุคที่พระอี้จิงเดินทางไปที่อินเดีย ราวพุทธศวรรษที่ ๑๓ ดังปรากฎในบันทึกของท่าน (南海寄歸內法傳 : T2125) กล่าวว่า ในดินแดนที่ท่านไปนับถือพุทธศาสนาทั้งมหายานและหินยาน ภิกษุถือสายพระวินัยใน ๔ นิกายหลักๆ คือ
๑.อารยมหาสังฆิกะนิกาย (阿離耶莫訶僧祇尼迦耶)
๒.อารยสถวีระนิกาย หรือเถรวาท (阿離耶悉他陛攞尼迦耶)
๓.อารยมูลสรรวาสติวาทนิกาย (阿離耶慕攞薩婆悉底婆拖尼迦耶)
๔.อารยสัมมิตียะนิกาย (阿離耶三蜜栗底尼迦耶)
แต่ละนิกายมีพระไตรปิฎกเป็นของตน (三藏 : ชุดคัมภีร์ที่ประกอบด้วย พระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม) และยังกล่าวแนวการปฏิบัติมหายานและหินยานดังนี้ :
其四部之中,大乘小乘區分不定。北天南海之郡純是小乘,神州赤縣之鄉意存大教,自餘諸處大小雜行。考其致也,則律撿不殊,齊制五篇通修四諦,若禮菩薩、讀大乘經,名之為大;不行斯事,號之為小。所云大乘,無過二種:一則中觀、二乃瑜伽
ในบรรดา ๔ นิกายนี้ จักจัดจำแนกว่าเป็นมหายานหรือหินยานนั้น มิอาจกำหนดลงไปได้ ในอินเดียเหนือและดินแดนทะเลใต้ต่างประพฤติปฏิบัติในหินยานอย่างเคร่งครัด ส่วนในประเทศจีนอันเป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์นั้นอุทิศตนประพฤติปฏิบัติในมหายาน ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ประพฤติปฏิบัติทั้งมหายานและหินยานปะปนกัน
เมื่อได้พิจารณาดูโดยสรุปแล้ว ได้เทียบเคียงพระวินัยดูแล้วก็มิได้แตกต่างกันนัก เพราะต่างปฏิบัติในกองอาบัติ ๕ อย่างและประพฤติธรรมตามหลักอริยสัจ ๔ เสมอกัน แต่หากฝ่ายใดบูชาพระโพธิสัตว์และศึกษามหายานสูตร ฝ่ายนั้นได้ชื่อว่า ใหญ่ (มหายาน) และฝ่ายใดมิได้ประพฤติเช่นนั้น ฝ่ายนั้นได้ชื่อว่า เล็ก (หินยาน)
ที่เรียกว่า มหายาน นั้นมีอยู่ ๒ ฝ่าย คือ ๑.มาธยมิก (ทัศนะทางสายกลาง) ๒.โยคาจาร (ทัศนะผู้ปฏิบัติโยคะ[คือการเพียรภาวนาให้เห็นจิต])
---------------------------
แต่ปัจจุบันนี้ คัมภีร์พระอภิธรรมของนิกายต่างๆ จำนวนมากสูญหายไปหมดแล้ว เหลือเพียงพระอภิธรรมและศาสตร์เพียงไม่กี่นิกาย และแม้จะมีการนำต้นฉบับภาษาสันสกฤตและปรากฤตต่างๆ ขึ้นไปที่จีน แต่ก็ไม่พบการแปล
เช่น พระฝาเสี่ยน (ฟาเหียน)นำพระอภิธรรมของนิกายมหาสังฆิกะกลับไป แต่ไม่พบการแปล
พระเสวียนจั้ง (พระถังซัมจั๋ง) นำคัมภีร์กลับมา โดยเป็นคัมภีร์พระสูตรมหายาน ๒๒๔ คัมภีร์ คัมภีร์ศาสตร์มหายาน ๑๙๒ คัมภีร์
ยังได้นำคัมภีร์พระสูตร พระวินัย ศาสตร์(อภิธรรม)ของ
นิกายเถรวาท ๑๔ คัมภีร์
นิกายมหาสังฆิกะ ๑๕ คัมภีร์
นิกายสัมมิตียะ ๑๕ คัมภีร์
นิกายมหีศาสกะ ๒๒ คัมภีร์
นิกายกาศยปียะ ๑๗ คัมภีร์
นิกายธรรมคุปต์ ๔๒ คัมภีร์
นิกายสรรวาสติวาท ๖๗ คัมภีร์ กลับมาด้วย แต่ส่วนมากก็ยังไม่ได้แปลและต้นฉบับในจีนก็สูญหายแล้ว (คัมภีร์ในที่นี้บางครั้ง ไม่ได้หมายถึงคัมภีร์เล็กๆ แต่หมายถึง ปิฎกทั้งปิฎกก็ได้ อย่างพระวินัยปิฎก ก็นับ ๑ คัมภีร์ หรือพระสูตรขนาดยาวหลายๆ ผูก ก็นับเป็น ๑ คัมภีร์ )
---------------------------
กล่าวได้ว่า มหายานในอินเดียนั้น ยอมรับพระอภิธรรมเดิม (มูลอภิธรรม) ตามนิกายของตนที่ได้อุปสมบทมา และมหายานไม่ได้มาลบล้างพระไตรปิฎกของนิกายใดๆ เลย ในทางกลับกัน สังฆะมหายานในแต่ละแห่งยังรักษา ทรงจำพระไตรปิฎกเดิมของนิกายตนเองด้วย
---------------------------
สถานการณ์พระอภิธรรมในจีน
เนื่องจากมีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ ของนิกายสรรวาสติวาท ที่อุปถัมก์โดยพระเจ้ากนิษกะ พระจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิกุษาณะ (ทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนาทั้งสาวกยานและมหายาน) ในอินเดียเหนือ
จึงทำให้นิกายสรรวาสติวาทมีอิทธิพลค่อนข้างสูงกว่านิกายอื่นๆ โดยพระอภิธรรมของนิกายสรรวาสติวาทส่งผลต่อการประพันธ์คัมภีร์ศาสตร์ของมหายานหลายคัมภีร์
จึงส่งผลให้พระธรรมทูตนิยมเลือกคัมภีร์อภิธรรมของนิกายสรรวาสติวาทไปเผยแพร่ที่เอเชียตะวันออก และแปลมากกว่านิกายอื่นๆ
แต่กระนั้นก็ปรากฏว่า พระธรรมทูตก็ได้นำคัมภีร์ของนิกายอื่นๆ ขึ้นไปจำนวนมาก ตามที่ได้กล่าวไป ก็เป็นไปด้วยความพยายามที่จะรักษามหาสาครแห่งพุทธธรรมอันมีมากมายมหาศาลนี้ไว้ แม้จะไม่สามารถเก็บรวบรวมหรือแปลคัมภีร์ไว้ได้ทั้งหมดก็ตาม แต่ก็ทำไปด้วยสติปัญญาอย่างเต็มกำลังของพระธรรมทูตและคณาจารย์ในสมัยนั้นถึงที่สุดแล้ว
ซึ่งก็ยังเหลือ คัมภีร์ศาสตร์และปกรณ์วิเศษด้านพระอภิธรรม ของนิกายต่างๆ ถูกแปลเป็นภาษาจีนอยู่ ลองมาดูกันว่าในคัมภีร์ภาษาจีน และบันทึกจีน กล่าวถึงมหายานแต่ละกลุ่มในอินเดียโบราณว่า มีคัมภีร์อะไรบ้างที่เกี่ยวกับพระอภิธรรมของนิกายต่างๆ ที่พอจะเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน
________________________
มหายานสายนิกายสัมมิตียะ
________________________
นิกายสัมมิตียะ เป็นนิกายฝ่ายสถวีรวาท กลุ่มปุคคลวาท(ปุทคลวาท) หรือ กลุ่มวัตสีปุตรียะ
ในบันทึกการเดินทางของพระเสวียนจั้ง หรือ พระถังซัมจั๋ง (大唐西域記 : T2087) นั้นระบุว่า ที่อินเดียตะวันตก ลุ่มแม่น้ำสินธุ (ปัจจุบันเป็นปากีสถาน) มีทั้งภิกษุนิกายสัมมิติยะที่เป็นมหายานและสาวกยาน ใน แคว้นสินธุ แคว้นอุทุมพติระ แคว้นปาตาสิลา ภิกษุนิกายสัมมิติยะเป็นฝ่ายหินยาน ในแคว้นอวัณฑะ ภิกษุนิกายสัมมิติยะเป็นฝ่ายมหายาน
นิกายนี้ให้การยอมรับพระอภิธรรม แต่ไม่ทราบได้ว่าจำแนกพระอภิธรรมไว้กี่หมวด ยังพอเหลือบางส่วนของปกรณ์วิเศษพระอภิธรรมของนิกายนี้ในฉบับภาษาจีน
๑.จตุราคมมาตฤกา (四阿鋡暮抄解 : T1505) แปลโดยพระกุมารพุทธิ (鳩摩羅佛提) มี ๒ ผูก จากคำนำที่เขียนขึ้นในจีน ระบุว่าพระอานนท์ได้ทำสังคายนาพระสูตร ๑๒ ประเภท (ทวาทศางคะ) จัดเป็น ๔ อาคม (ทีรฆาคม มัธยมาคม เอโกตตราคม สัมยุกตาคม) ได้เป็นสุตตันตปิฎก รวมเข้ากับพระวินัยและ พระอภิธรรมได้เป็น ๓ ปิฎก จากนั้น พระอรหันต์ชื่อ วสุภัทระ (อาจเป็นคณาจารย์ของฝ่ายสัมมิตียะ) ได้รจนาคัมภีร์นี้ขึ้นมา แยกแยะหัวข้อธรรมะในพระสูตรออกเป็นแม่บท หรือ มาติกา (ไว้อย่างอภิธรรม) แต่เป็นการแปลที่ไม่สมบูรณ์นัก
๒. ตริธรรมกศาสตร์ (三法度論 : T1506 ) หรือ ตริธรรมขัณฑกะ แปลโดยพระสังฆเทวะ (僧伽提婆) มี ๓ ผูก ยกเป็นแม่บทอธิบายถึงปุทคละ ๓ ประเภท เพื่อสนับสนุนแนวคิดปุคคลวาท ของนิกายสัมมิตียะ ดังนี้ ๑.อาศฺรยปรัชญัปติปุทคละ ๒.สังกรมปรัชญัปติปุทคละ ๓.นิโรธปรัชญัปติปุทคละ
๓. สามมิตียนิกายศาสตร์ (三彌底部論 : T1649) หรือ อาศฺรยปรัชญัปติศาสตร์ หรือ อุปาทายปรัชญัปติ ไม่ทราบผู้แปล มี ๓ ผูก
________________________
มหายานสายนิกายเถรวาท
________________________
นิกายเถรวาท เป็นนิกายฝ่ายสถวีรวาท กลุ่มวิภัชชวาท
นิกายเถรวาท ให้การยอมรับพระอภิธรรม และมีพระอภิธรรมครบปิฎก พร้อมอรรถกถา ฎีกา ปกรณ์วิเสสต่างๆ โดยนิกายเถรวาทจำแนกพระอภิธรรมไว้ ๖ หมวด หลังการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ พระสังคีติกาจารย์ในครั้งนั้นได้ยกคัมภีร์กถาวัตถุ เพิ่มเข้ามา มีเนื้อหาบอกถึงความเห็นที่ที่ขัดแย้งกันระหว่างนิกายต่างๆ โดยชื่อคัมภีร์ต่างๆ มีดังนี้
๑.ธัมมสังคณี ๒.วิภังค์ ๓.ธาตุกถา ๔.ปุคคลบัญญัติ ๕.กถาวัตถุ ๖.ยมก ๗.ปัฏฐาน (มหาปกรณ์)
มหายานเถรวาท หรือ มหายานสถวีรวาท (大乘上座部)
คือ มหายานที่ถือในพระวินัยนิกายเถรวาท ในบันทึกการเดินทางของพระเสวียนจั้ง พบคณะสงฆ์กลุ่มนี้ ในอินเดียตะวันออก พบใน พุทธคยา แคว้นมคธ แคว้นกลิงคะ แคว้นปุณฑวรรธนะ อินเดียตะวันตก พบในแคว้นภารุกัจฉะ แคว้นสุราษฏระ
และพบในเกาะลังกา ซึ่งค่อนข้างมีหลักฐานชัดเจนที่สุด คือ สำนักอภัยคีรีวิหาร ในเกาะลังกา สำนักนี้ก็คงจะใช้พระอภิธรรมภาษาบาลีของฝ่ายเถรวาท เพราะเป็นสำนักที่มีการคัดลอกเผยแพร่พระไตรปิฎกของเถรวาทที่สำคัญแห่งหนึ่งในลังกา หลังมีการจดจารพระไตรปิฎกบาลีเถรวาทลงใบลานครั้งแรกใหม่ๆ
ที่มาของสำนักอภัยคีรีวิหาร อย่างคร่าวๆ ราวพ.ศ. ๔๔๐ พระเจ้าวัฏฏคามินี ได้ราชสมบัติในลังกา เกิดเหตุการณ์ในภาษาสิงหลว่า แพะมิณิติยาสายะ หรือเหตุการณ์ทุพภิกขภัยแห่งพราหมณ์ติสสะ โดยบ้านเมืองประสบปัญหา พราหมณ์ติสสะก่อกบฏขึ้นและเกิดการจลาจล มีการรุกรานจากชนชาติทมิฬ และซ้ำร้ายเกิดกันดารอาหาร ความอดอยากและโรคระบาดไปทั่ว พระเจ้าวัฏฏคามินีต้องลี้ภัยเป็นเวลานานถึง ๑๔ ปี ในขณะนั้นพระสงฆ์ทรงจำพระธรรมวินัย ขาดอาหารมรณภาพในป่าหลักหมื่นรูป
ครั้นพระเจ้าวัฏฏคามินีจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว พวกคณะสงฆ์ภิกษุลังกาเหล่านั้นพิจารณาเห็นความผันผวนของเหตุการณ์บ้านเมือง ด้วยความหวั่นเกรงว่าพระธรรมจะสูญหาย จึงลงความเห็นว่า ควรทำสังคายนาพระธรรมวินัย แล้วจดจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ จึงให้ประชุมกันสังคายนา ณ อาโลกเลณสถาน ในมลยชนบท ได้พระไตรปิฎกเถรวาทฉบับใบลานครั้งแรก
ส่วนพระเจ้าวัฏฏคามินีทรงบำรุงพุทธศาสนา ซ่อมแซมวัดวาอาราม สนับสนุนการคัดลอกพระไตรปิฎกที่จดจารลงใบลานแล้ว ทรงนึกถึงความหลัง ครั้นพระองค์ถูกนักบวชนิครนถ์แห่งติตถาราม แจ้งที่อยู่ของพระองค์ขณะทรงหลบหนีให้ศัตรูทราบ ต่อมาเมื่อพระองค์หลบหนีมาได้ มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ พระมหาติสสะเถระ ช่วยพระองค์ไว้ พระเจ้าวัฏฏคามินี จึงทรงชำระความกับพวกนิครนถ์ โดยขับไล่พวกพวกนิครนถ์ออกจากติตถาราม แล้วสร้างวัดขึ้นแทนชื่อ อภัยคีรี ถวายแก่พระมหาติสสะเถระ พระเจ้าวัฏฏคามินีอุดหนุนวัดอภัยคีรี จนเป็นเหตุให้คณะสงฆ์เดิมไม่พอใจ โจทย์พระมหาติสสะเถระ ว่าเป็นผู้ประจบตระกูลต้องอาบัติสังฆาทิเสส (ในคัมภีร์มหาวงศ์ เรียกท่านว่า คนโกหกและประจบตระกูล
เพราะพระมหาติสสะเคยให้อาหารบิณฑบาตแก่พระเจ้าวัฏฏคามินีก่อนคนแรกเมื่อคราวพระองค์ลี้ภัย) จากนั้นได้ขับพระมหาติสสะเถระออกจากคณะสงฆ์ และลูกศิษย์ท่านจำนวนมากก็ได้ติดตามท่าน ไปอยู่ที่อภัยคีรีด้วย จากนั้นคณะสงฆ์เถรวาทในลังกาจึงแตกเป็น ๒ ฝ่ายใหญ่ๆ
๑. ฝ่ายมหาวิหาร เป็นเถรวาทสายอนุรักษนิยมอย่างเครงครัด ๒. ฝ่ายอภัยคีรีวิหาร เป็นเถรวาทสายก้าวหน้า ศึกษาแลกเปลี่ยนทัศนะใหม่ๆ ต่อมาเรียก ฝ่ายนี้ว่าธรรมรุจี ภายหลังยอมรับแนวคิดมหายานด้วย (มหาวงศ์เรียกว่า เวตุลละ) ซึ่งพระเจ้าพระเจ้าวัฏฏคามินีก็ทรงให้การอุปถัมภ์ทั้ง ๒ ฝ่ายจนสิ้นรัชกาล
(จากหลักฐาน ในลังกามีสำนักนิกายเถรวาท อีกคือ ฝ่ายเชตวัน และยังมีคณะสงฆ์นิกายอื่นๆ ที่มิใช่เถรวาทด้วยเช่น มหาสังฆิกะ มหีศาสกะ )
--------------------
ในบันทึกจีนนั้นกล่าวถึง มหายานกลุ่มนี้ไว้บ้าง
ในบันทึกของพระฝาเสี่ยน หรือ ฟาเหียน (法顯) ระบุไว้ในบันทึก 高僧法顯傳 (T2085) กล่าวโดยสรุปว่า ท่านได้มาที่เกาะลังกา หรือประเทศสิงหะ (師子國 : สิงหล) พำนักอยู่ที่อารามชื่อว่า ภูเขาแห่งความไม่มีภัย (無畏山) หรือ อภัยคีรีวิหาร พระฝาเสี่ยน ท่านได้พระวินัยปิฎกของนิกายมหีศาสกะ (彌沙塞律) และพระสูตร ทีรฆาคม (長阿含) สัมยุกตาคม (雜阿含) กษุทรกปิฎก(雜藏 ) จากสำนักนี้ไปจีนด้วย ซึ่งคัมภีร์เหล่านี้ยังไม่เคยปรากฏที่แผ่นดินจีนมาก่อน (此悉漢土所無者)
และพระสูตรพระฝาเสี่ยนได้รับไปอาจจะเป็น ทีฆนิกาย สังยุตตนิกาย ขุททกนิกาย ของฝ่ายเถรวาท (ซึ่งไม่ได้รับการถูกแปลในจีน) เนื่องจาก อภัยคีรีวิหาร เป็นสำนักที่มีการคัดลอกเผยแพร่พระไตรปิฎกของเถรวาทที่สำคัญแห่งหนึ่งในลังกา มีการแลกเปลี่ยนความรู้กับนิกายอื่นๆด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีคัมภีร์วินัยของนิกายอื่นๆ ด้วย อภัยคีรีวิหารต้อนรับทัศนะใหม่ๆ จากต่างประเทศ ศึกษาทั้งเรื่องฝ่ายเถรวาทและมหายาน
ในบันทึกของท่านยังได้ระบุว่า ฝ่ายอภัยคีรีวิหาร มีภิกษุราว ๕ พัน ฝ่ายมหาวิหาร มีภิกษุราว ๓ พัน และท่านเคยไปร่วมงานณาปนกิจพระเถระฝ่ายมหาวิหารอีกด้วย
--------------------
ในบันทึกการเดินทางของพระเสวียนจั้ง (大唐西域記 : T2087) ระบุอย่างชัดเจนว่า อภัยคีรีวิหาร เป็นมหายานเถรวาท โดยพระเสวียนจั้งรับฟังเรื่องของเกาะลังกามา ตอนที่ท่านอยู่ที่อินเดียใต้ โดยท่านไม่ได้เดินทางไปเอง มีเนื้อหาดังนี้
佛教至後二百餘年,各擅專門,分成二部:一曰摩訶毘訶羅住部,斥大乘,習小教。二曰阿跋耶祇釐住部,學兼二乘,弘演三藏。僧徒乃戒行貞潔,定慧凝明,儀範可師,濟濟如也。
(ในเกาะลังกา) เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาได้ ๒๐๐ ปี คณะสงฆ์ได้แตกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ๑. ฝ่ายมหาวิหารวาสิน ซึ่งปฏิเสธมหายานและศึกษาในหินยาน ๒.ฝ่ายอภัยคิริวิหารวาสิน ศึกษาทั้ง ๒ ยาน และเผยแผ่พระไตรปิฎก เป็นคณะสงฆ์ที่ประพฤติในศีลด้วยความบริสุทธิ์ มีจิตใจที่มั่นคงในสมาธิและสว่างด้วยปัญญา สมควรแก่การเคารพนับถือเป็นแบบอย่างของชนทั้งหลายทั่วไป
--------------------
ตามหลักฐานร่วมสมัยอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าอภัยคีรีวิหาร นั้นพัฒนาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนานานาชาติที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในสมัยนั้น จนมีชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาทั้งพบหลักฐานความสัมพันธ์กับดินแดนต่างชาติ เช่น กัษมีระ จีน ชวา และดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และพบการเชื่อมโยงสำนักอภัยคีรีวิหารกับคัมภีร์เถรวาทที่ถูกแปลในจีน แม้จะมีหลักฐานว่ามีคัมภีร์ของนิกายเถรวาทไปยังจีนหลายคัมภีร์ แต่ปรากฏการแปลเพียง ๒ คัมภีร์เท่านั้น คือ
๑. วิโมกษมารคศาสตร์ หรือ วิมุตติมรรค (解脫道論 : T1648) รจนาโดยพระอรหันต์อุปติสสะ (優波底沙) มี ๑๒ ผูก แปลโดย พระสังฆปาละ หรือ พระสังฆวรมัน (僧伽婆羅) จากอาณาจักรฟูนัน (扶南) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเนื้อหาคล้ายคัมภีร์วิสุทธิมรรค ของพระพุทธโฆษาจารย์ ในจีนจัดให้ วิมุตติมรรค เป็นศาสตร์หรือปกรณ์วิเศษฝ่ายพระอภิธรรม
และอีกหนึ่งคัมภีร์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับพระอภิธรรม
๒. สุทรรศนะวินยวิภาษา (善見律毘婆沙 : T1462) มี ๑๘ ผูก แปลโดย โดยพระสังฆภัทร ภิกษุชาวเอเชียกลาง (僧伽跋陀羅)คัมภีร์นี้มีเนื้อหาคล้าย คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ของพระพุทธโฆษาจารย์ และมีส่วนต่างกันอยู่บ้าง ถูกนำมาใช้เป็นอรรถกถาพระวินัยปิฎกของนิกายธรรมคุปต์ (วินัยปิฎกนิกายธรรมคุปต์ และ วินัยปิฎกนิกายเถรวาทมีความใกล้ชิดกันมากมีการจัดวินัยขันธกะไว้เท่ากัน ) ในจีนจัดให้ สุทรรศนะวินยวิภาษา อยู่ในหมวดวินัย
--------------------
การไม่ลงรอยกันกันระหว่างคณะสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย มีมาโดยตลอด และภายหลังการเข้ามาของพุทธแนวมนตรยาน และวัชรยาน ในฝ่ายอภัยคีรีวิหาร ยิ่งทวีความไม่พอใจของฝ่ายมหาวิหารเป็นอย่างยิ่ง และถูกผสมโรงด้วยการแทรกแซงทางการเมือง การแทรกแซงจากคณะสงฆ์ต่างชาติ ในบางรัชสมัยคณะสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างชิงดีชิงเด่น บางรัชสมัยก็อาศัยพระราชอำนาจเบียดเบียนกัน บางรัชสมัยก็ต่างแยกกันอยู่อย่างสงบ บางรัชสมัยพระราชาทรงอุปถัมภ์ด้วยดีทั้ง ๒ ฝ่าย จนราวในรัชสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๗-๑๗๓๐) ทรงรวมคณะสงฆ์ทั้ง ๒ เข้าด้วยกัน เหลือแต่ฝ่ายมหาวิหาร แต่เจริญอยู่ได้ไม่นาน เกาะลังกาก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามใหม่จากชาติล่าอาณานิคมในยุโรป เรื่องราวต่างๆมีมาก สามารถศึกษาได้ใน คัมภีร์มหาวงศ์
(แต่พึงทราบว่า มหาวงศ์ เป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ของลังกา แนวพงศาวดารและพงศ์กษัตริย์ หาใช่คัมภีร์ที่ใช้แสดงหลักพระธรรมทางพุทธศาสนาไม่ ในเนื้อเรื่องประกอบด้วย ประวัติศาสตร์ การเมือง การแย่งชิงอำนาจทั้งทางอาณาจักรและศาสนจักร มีเรื่องราวสงครามรบราฆ่าฟัน และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอคติเจือปนอยู่ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของตำราประเภทนี้ ทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน อาจจะต้องศึกษาพิจารณาด้วยใจเป็นกลางอย่างเข้าใจบริบทในสมัยนั้น)
________________________
มหายานสายนิกายธรรมคุปต์
________________________
นิกายธรรมคุปต์ เป็นนิกายฝ่ายสถวีรวาท กลุ่มวิภัชชวาท เป็นนิกายที่เจริญในอินเดียเหนือและเอเชียกลาง
นิกายธรรมคุปต์ เป็นสาวกยาน ที่ให้ความสำคัญต่อแนวการปฏิบัติตนเป็นพระโพธิสัตว์ โดยให้ความสำคัญ พอๆ กับแนวการปฏิบัติตนเป็นพระอริยบุคคล ภายหลังจึงผสมกลมกลืนไปกับมหายานที่รุ่งเรืองอยู่ในอินเดียเหนือ นิกายนี้เป็นคณะธรรมทูตชุดแรกๆ ที่นำพุทธศาสนาไปเผยแพร่ในจีน อีกทั้งมีระบบพระวินัยคล้ายคลึงกับพระวินัยเถรวาทมากที่สุด
นิกายธรรมคุปต์ให้การยอมรับพระอภิธรรม และยังพอเหลือบางส่วนของอภิธรรมปิฎก ในฉบับภาษาจีน ชื่อว่า ศาริปุตราภิธรรม (舍利弗阿毘曇論 : T1548) มีจำนวน ๓๐ ผูก จำนวน สองแสนเจ็ดหมื่นกว่าตัวอักษรจีน แปลโดยพระธรรมยศัส (曇摩耶舍) และพระธรรมคุปต์ (曇摩崛多) ภิกษุชาวกัษมีระ (แคชเมียร์)
โดยเชื่อว่า พระสารีบุตร เป็นผู้ฟังอภิธรรมมาจากพระพุทธเจ้า ( คล้ายๆ เถรวาทที่ กล่าวไว้ในอรรถกาบาลี ชื่อคัมภีร์อัฏฐสาลินี ว่า พระสารีบุตรเถระก็นำพระอภิธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วๆ มาแสดงแก่ภิกษุ ๕๐๐ ผู้เป็นสัทธิวิหาริกของท่าน)
โดยจำแนกพระอภิธรรมไว้ ๕ หมวด ๑.สปรัศนกะ ๒.อปรัศนกะ ๓.สังคระหะ ๔.สัมประโยคะ ๕.ปรัสถานะ การศึกษาทางวิชาการพบว่า ศาริปุตราภิธรรม คล้ายกับพระอภิธรรมนิกายเถรวาทมากกว่า พระอภิธรรมนิกายสรรวาสติวาท
ปัจจุบันค้นพบต้นฉบับ ศาริปุตราภิธรรม ภาษาสันสกฤตบางส่วนแล้ว พบที่หุบเขาบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชัน Schøyen
พระอภิธรรมชุดนี้ ค่อนข้างถูกละเลยไม่ค่อยถูกนำมาศึกษาในคณะสงฆ์มหายานในเอเชียตะวันออกมา ตั้งแต่สมัยที่แปลเสร็จแล้ว
แม้ว่าปัจจุบันคณะสงฆ์มหายานในเอเชียตะวันออกอุปสมบทในสายพระวินัยนิกายธรรมคุปต์ก็ตาม เพราะแต่เดิมคณะสงฆ์ในจีนอุปสมบทด้วพระวินัยที่หลากหลาย แต่ด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองแทรกแซง จึงทำให้คณะสงฆ์ในจีนต้องทำการอุปสมบทและญัตติกรรมใหม่ด้วยพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ และส่งผลไปยัง คณะสงฆ์ในเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนามด้วย
และเนื่องจากอดีต ภิกษุมหายานในอินเดียเหนือมักจะศึกษาในพระอภิธรรมของนิกายสรรวาสติวาทมากกว่า ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น จึงส่งผลให้พระธรรมทูตนิยมนำคัมภีร์อภิธรรมของนิกายสรรวาสติวาทไปเผยแพร่ที่เอเชียตะวันออก จึงทำให้พระอภิธรรมของนิกายสรรวาสติวาทมีการศึกษาในจีนมากกว่านิกายอื่นๆ ไปด้วย
คลิกที่นี่เพื่อเป็นสมาชิก?
วิดีโอทั้งหมด (แสดงผลทั้งหมด)
ประเภท
ที่อยู่
88 หมู่1 ตำบล หอมเกร็ด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
Nakhon Pathom
73110
เวลาทำการ
จันทร์ | 09:00 - 17:00 |
อังคาร | 09:00 - 17:00 |
พุธ | 09:00 - 17:00 |
พฤหัสบดี | 09:00 - 17:00 |
ศุกร์ | 09:00 - 17:00 |
บ้านเลขที่ 131/7 หมู่ที่ 8 ตำบล บ่อพลับ
Nakhon Pathom, ึึ73000
คริสตจักรภาคที่ 11
112 หมู่ 1 ตำบลดอนข่อย อำเภอกำแพงแสน
Nakhon Pathom, 73140
วัดดอนทอง วัดป่าสาขาที่ 200 ของวัดหนอ?
วัดปรีดาราม (ยายส้ม) ตำบลคลองจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
Nakhon Pathom, 73110
วัดปรีดาราม ๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลคลองจิน?
Nakhon Pathom, 73120
หลวงปู่น้อย นาวารัตน์ พระราหูอมจัน?
ถนนพระประโทน-บ้านแพ้ว ต. ตลาดจินดา อ. สามพราน จ. นครปฐม
Nakhon Pathom, 73110
พุทธศาสนา. (วัดไทย)
58/2 ม. 2 ต. ลำลูกบัว อ. ดอนตูม
Nakhon Pathom, 73150
#นมัสการพระเจ้า#ชุมชนแห่งความเชื่อ#?
เลขที่ 36 หมู่ 5 ถนนเทิดพระเกียรติ ตำบลบางเตย อำเภอสามพราน
Nakhon Pathom, 73210
เชิดชูจริยะธรรม น้อมนำธรรมวิถี สร้างคนดีสู่สังคม