อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร : Kamphaeng Phet Historical Park

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

Photos from อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร : Kamphaeng Phet Historical Park's post 03/09/2024
Photos from อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร : Kamphaeng Phet Historical Park's post 03/09/2024

#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
ศิลาจารึกซุ้มน้ำพุวงเวียนต้นโพธิ์.
ศิลาจารึกซุ้มน้ำพุวงเวียนต้นโพธิ์ เป็นหินปูน สีเทา ขนาดกว้าง ๗๘ เซนติเมตร สูง ๑๒๖ เซนติเมตร หนา ๘ เซนติเมตร จารด้วยภาษาไทยเป็นอักษรไทยสมัยรัตนโกสินทร์ มี ๑ ด้าน จำนวน ๑๙ บรรทัด ตั้งอยู่ในซุ้มน้ำพุวงเวียนต้นโพธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร มีข้อความในศิลาจารึก ดังนี้

๏ ศุภมัสดุพระพุทธศาสนายุกาลได้ ๒๔๔๘ พรรษา
จุลศักราช ๑๒๖๗ ศกมะเส็งรัตนโกสินทรศก ๑๒๔
เป็นปีที่ ๓๘ ในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
มกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินจากมณฑลพายัพ
มาถึงเมืองกำแพงเพชรนี้ วันอังคารเดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ
สุริยคติกาลกำหนด วันที่ ๑๖ เดือนมกราคม เสด็จประพาส
ทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่งเป็นครั้งแรก
ประทับแรมอยู่ ๒ ราตรีตั้งพลับพลานอกกำแพง
เมืองกำแพงเพชร ที่วัดชีนางเการิมลำน้ำปิงฝั่งเหนือ ฯ ะ
๏ ครั้นลุพระพุทธศาสนายุกาลได้ ๒๔๕๐ พรรษา
จุลศักราช ๑๒๖๙ ศกมะแมรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖
เป็นปีที่ ๔๐ ในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นั้น
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถึงเมืองกำแพงเพชรนี้
วันพุธเดือนยี่ขึ้น ๑๓ ค่ำ สุริยคติกาลกำหนด
วันที่ ๑๕ มกราคมได้เสด็จประพาสทอดพระเนตร
โบราณสถานซ้ำอีกเป็นครั้งที่ ๒ ประทับแรมอยู่
๓ ราตรีที่พลับพลาเดิม ฯ

จากข้อความข้างต้นที่ปรากฏในศิลาจารึก ได้ระบุถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)
เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร จำนวน ๒ ครั้ง ดังนี้


ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร ระหว่างเสด็จกลับจากมณฑลพายัพ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่งในเมืองกำแพงเพชรเป็นครั้งแรก และประทับแรม ณ พลับพลา บริเวณวัดชีนางเกา ตั้งอยู่ด้านเหนือริมแม่น้ำปิง เป็นระยะเวลา ๒ คืน ในครั้งนั้นพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ “ลิลิตพายัพ” ซึ่งปรากฏชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดกำแพงเพชร


ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรอีกครั้ง ทอดพระเนตรโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรเป็นครั้งที่ ๒ ประทับแรม ณ ที่ตั้งพลับเพลาเดิม เป็นระยะเวลา ๓ คืน การเสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรครั้งที่สองนี้ พระองค์เสด็จประพาสทั้งเมืองกำแพงเพชร เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย เมืองอุตรดิตถ์ และเมืองพิษณุโลก และทรงพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ซึ่งปรากฏข้อมูล แผนที่ และพระราชบรมราชวินิจฉัยทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ทรงคุณค่า


นอกจากนี้ยังปรากฏศิลาจารึกในลักษณะเดียวกับศิลาจารึกซุ้มน้ำพุวงเวียนต้นโพธิ์อีกหลัก ที่เมืองศรีสัชนาลัย ศิลาจารึกมีรูปแบบเป็นใบเสมาและจารด้วยอักษรไทยสมัยรัตนโกสินทร์และภาษาไทยเหมือนกันทั้งสองหลัก ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณห้าแยกวัดพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีเนื้อความระบุว่าเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณสถานที่เมืองศรีสัชนาลัยเป็นครั้งแรก และประทับแรม ณ พลับพลา บริเวณวัดน้อย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมด้านใต้ เป็นระยะเวลา ๑๓ คืน จึงกล่าวได้ว่าศิลาจารึกทั้งสองหลักนี้ เป็นหลักฐานที่อ้างอิงถึงเหตุการณ์เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรและเมืองศรีสัชนาลัย ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเจ้าอยู่หัว ในพุทธศักราช ๒๔๕๐ ได้เป็นอย่างดียิ่ง


ศิลาจารึกซุ้มน้ำพุวงเวียนต้นโพธิ์แห่งเมืองกำแพงเพชร จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงความสำคัญของเมืองกำแพงเพชร โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสถึง ๒ ครั้ง เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองกำแพงเพชร นำมาสู่การอนุรักษ์และพัฒนาจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าของชาวกำแพงเพชรสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์. (๒๕๒๑). ประชุมจารึก ภาคที่ ๖ ตอนที่ ๒. สำนักนายกรัฐมนตรี.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๕๑). เที่ยวเมืองพระร่วง. โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๔๗๒). ลิลิตพายัพ. โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.

28/08/2024
Photos from กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร's post 09/08/2024
Photos from อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร : Kamphaeng Phet Historical Park's post 05/08/2024

#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

壽 (โซ่ว) ตัวอักษรและลวดลายมงคลบนเครื่องลายครามจีน ที่พบใหม่จากจังหวัดกำแพงเพชร

นอกจากอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรหรือเมืองโบราณกำแพงเพชรแล้ว ในพื้นที่การปกครองอำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ยังคงปรากฏโบราณสถานที่อยู่นอกเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 ประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร พบโบราณวัตถุโดยบังเอิญจากการทำเกษตรกรรมในที่ดินของตน ประกอบด้วย
1. ภาชนะสำริดทรงบาตร มีลวดลายตกแต่งบริเวณขอบปากภาชนะ จากเทคนิคการตอกสลักลวดลายพันธุ์พฤกษา
2. ภาชนะทรงกระปุก เคลือบน้ำเคลือบสีน้ำตาลบริเวณปากภาชนะ และตกแต่งลายจุดน้ำเคลือบสีน้ำตาลรอบส่วนลำตัวภาชนะ ภาชนะทรงกระปุกประเภทนี้สันนิษฐานว่าเป็นสินค้าส่งออกในสมัยอยุธยา เนื่องจากพบเป็นจำนวนมากในเรือเกาะกระดาด ตำบลเกาะหมาก อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำในอ่าวไทย และยังพบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีที่โบราณสถานวัดพระแก้ว ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โบราณสถานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 21-22
3. เครื่องลายครามจีนทรงถ้วย กำหนดอายุได้ในสมัยราชวงศ์หมิง พุทธศตวรรษที่ 20 - 22
เครื่องลายครามจีน (blue and white wares) เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้เทคนิคการเขียนลายสีครามใต้เคลือบมักมีการเผาสองครั้ง หลังจากที่ขึ้นรูปภาชนะเรียบร้อย นำไปเผาดิบ (biscuit) แล้วจึงนำภาชนะไปเขียนลายด้วยสีครามที่ได้จากแร่โคบอลต์ จากนั้นชุบน้ำเคลือบและนำไปเผาอีกครั้งหนึ่ง เครื่องลายครามเป็นเครื่องปั้นดินเผาประเภทเนื้อกระเบื้อง (porcelain) เผาไฟที่อุณหภูมิ 1,280–1,350 องศาเซลเซียส ลักษณะเนื้อภาชนะดินเผาจะละเอียด สีขาว มีคุณสมบัติโปร่งแสง เนื้อบาง ไม่ดูดซึมน้ำ ดีดเคาะจะมีเสียงใสกังวาน
เครื่องลายครามจีนที่พบใหม่จากจังหวัดกำแพงเพชร กำหนดอายุได้ในสมัยราชวงศ์หมิง พุทธศตวรรษที่ 20-22 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางปาก 14.50 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางก้น 5.50 เซนติเมตร สูง 6.70 เซนติเมตร และหนา 0.2 เซนติเมตร เป็นเครื่องลายครามจีนทรงถ้วย ด้านนอกบริเวณขอบปากเขียนลายประแจจีน ส่วนลำตัวเขียนลายต้นสนและดอกเหมย ต้นสนเป็นต้นไม้ที่เขียวชอุ่มตลอดปี ลวดลายต้นสนบนเครื่องลายครามจีน หมายถึง พลังและความมีอายุยืน เพราะต้นสนไม่เหี่ยวเฉาในฤดูหนาว ส่วนดอกเหมยเป็นดอกไม้ที่เบ่งบานตลอดฤดูหนาว และกลีบสีขาวของดอกเหมยเปรียบเสมือนความบริสุทธิ์ ศีลธรรม และความดีงาม ส่วนก้นด้านนอกของเครื่องลายครามปรากฏตัวอักษรจีนเป็นคำว่า
“長命富貴” อ่านว่า “ฉางมิ่งฟู่กุ้ย” แปลว่า อายุยืน ความร่ำรวย และเกียรติยศ
ด้านในเครื่องลายคราม บริเวณขอบปากเขียนลายเรขาคณิตที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนและเครื่องหมายบวก บริเวณส่วนลำตัวด้านใน เขียนลวดลายลูกพลับ ที่มีความหมายถึงความสนุกสนานและชื่นชมยินดี เนื่องจากผลของลูกพลับมีสีแดงสดใส ถัดจากลายลูกพลับเป็นลวดลายผึ้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์มงคลของจีนเช่นกัน กล่าวกันว่าหากผึ้งไปทำรังใกล้กับบ้านของผู้ใดจะนำโชคลาภมาสู่บ้านนั้น และผึ้งยังสื่อถึงความขยันหมั่นเพียรและความมัธยัสถ์

ลวดลายที่มีความน่าสนใจมากที่สุดของเครื่องลายครามจีนชิ้นนี้ คือ บริเวณก้นถ้วยด้านใน เขียนลายกิ่งไผ่เกี่ยวกระหวัดกันเป็นตัวอักษรจีนประดิษฐ์เป็นคำมงคลว่า “壽” อ่านว่า “โซ่ว” แปลว่า มีอายุยืนยาวนาน ลวดลายตัวอักษรจีนประดิษฐ์นี้สามารถเปรียบเทียบได้กับลวดลายบนแจกันลายครามจีน (Accession Number : F1945.36a-b) จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานศิลปะเอเชียแห่งชาติ (The National Museum of Asian Art) สถาบันสมิธโซเนียน (Smithsonian Institution) ที่ส่วนลำตัวเขียนลายกิ่งไม้ขดเป็นรูปตัวอักษรจีนประดิษฐ์เป็นคำมงคลว่า “壽” อ่านว่า “โซ่ว” เช่นกัน
ทั้งนี้ลวดลายกิ่งไผ่ที่ขดเป็นตัวอักษรจีนประดิษฐ์เป็นคำมงคลแล้ว ความหมายของต้นไผ่ ซึ่งเป็นพืชที่คงความเขียวชอุ่มไว้ตลอดฤดูหนาว มักจะลู่เอนไปตามแรงลม แต่ไม่หักโค่นลงมา รวมทั้งมีความหมายว่ามีอายุยืนยาวนาน ดังนั้นตัวอักษรจีนประดิษฐ์ที่ขดขึ้นจากกิ่งไผ่ในเครื่องลายครามชิ้นนี้จึงเน้นย้ำถึงความหมายของการมีอายุยืนยาวนานอย่างแท้จริง
เครื่องลายครามจีนชิ้นนี้ นอกจากจะเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ อันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน ลวดลายและตัวอักษรจีนที่ปรากฏบนเครื่องลายครามจีน ล้วนแล้วแต่มีความหมายที่ดีงามและความหมายที่เป็นมงคล สะท้อนถึงคติความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวจีนในอดีต และอาจเป็นการอำนวยพรความดีงามและความมงคลให้แก่ผู้ใช้สอยภาชนะชิ้นดังกล่าว
ทั้งนี้ อุทยานประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้ดำเนินการสำรวจแหล่งโบราณคดีและรับมอบโบราณวัตถุทั้ง 3 รายการ จากประชาชนเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 และส่งมอบโบราณวัตถุรายการดังกล่าวให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 เพื่อเก็บรักษาตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. (2550). ศัพทานุกรมโบราณคดี. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.
กฤษฎา พิณศรี, ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และสว่าง เลิศฤทธิ์. (2539). ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2). โอสถสภา.
ณัฏฐภัทร จันทวิช. (2537). เครื่องถ้วยจีนที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรมศิลปากร.
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. (ม.ป.ป.). เอกสารประกอบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการกำหนดอายุและแหล่งผลิตของเครื่องปั้นดินเผาจีนที่พบจากแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย. [เอกสารอัดสำเนา].
สายันต์ ไพรชาญจิตร์, ศิริพันธ์ ยับสันเทียะ และอัจฉรา แข็งสาริกิจ. (2532). โบราณคดีสีคราม 2 : เครื่องถ้วยจากทะเล. โครงการโบราณคดีใต้น้ำ กองโบราณคดี กรมศิลปากร.
บันทึกข้อความ ที่ วธ 0416.06/371 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2567

Photos from อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร : Kamphaeng Phet Historical Park's post 01/08/2024

วันพฤหัสบดีที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ เวลา ๙.๓๐ น.
นายบัณฑิต ทองอร่าม หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร พร้อมด้วยข้าราชการ พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ดำเนินโครงการปลูกป่าในพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ โดยร่วมกันปลูกต้นไม้จำนวน ๗๒ ต้น ในผืนป่าธรรมชาติของเขตอรัญญิก (กลุ่มโบราณสถานในเขตอรัญวาสี) อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

Photos from อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร : Kamphaeng Phet Historical Park's post 30/07/2024

#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

การจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗

น้ำพระพุทธมนต์ หรือ น้ำมนต์ หมายถึง น้ำที่เข้าพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อให้อาบ กิน หรือประพรมโดยถือกันว่าเป็นมงคล

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย” กล่าวถึงคติการรดน้ำหรือการหลั่งน้ำในพิธีต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการรดน้ำมนต์เพื่อความเป็นสวัสดิมงคล ปรากฏใน “สาส์นสมเด็จ” ลายพระหัตถ์โต้ตอบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฉบับวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ดังเนื้อความต่อไปนี้

“หม่อมฉันเคยคิดดูถึงคติที่รดน้ำในพิธีต่าง ๆ ว่าจะเกิดแต่ประสงค์อย่างใดเป็นมูลเดิม เห็นวัตถุที่ประสงค์ร่วมกันได้มากแต่ เพื่อจะเปลี่ยนฐานะของบุคคลหรือวัตถุที่มีการรดน้ำนั้นเป็นอย่างอื่น เช่นรดน้ำแต่งงานบ่าวสาว ก็เปลี่ยนฐานะของเจ้าบ่าวเจ้าสาวจากเป็นโสดไปเป็นผู้มีเรือน การรดน้ำโกนจุกก็เปลี่ยนฐานะจากเด็กเป็นหนุ่มสาว การรดน้ำราชาภิเษกก็เปลี่ยนฐานะของผู้รับอภิเษกให้เป็นพระราชาธิบดี แม้รดน้ำในการบริจาคทานเช่นพระเวสสันดรหลั่งน้ำเมื่อให้ช้างเผือก ก็หมายว่าสละฐานะที่เป็นเจ้าของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงหลั่งน้ำในพระหัตถ์พระพุทธเทวะปฏิมากร ก็คือเปลี่ยนฐานะที่พระองค์ทรงเป็นเจ้าของวัดพระเชตุพน สละถวายเป็นพุทธบูชาสิทธิ์ขาด ตรวจน้ำทำบุญอยู่ในสละบุญอันตนได้กระทำส่วนหนึ่งให้แก่เปรต ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงหลั่งน้ำแสดงอิสรภาพที่เมืองแครง ก็หมายเปลี่ยนฐานะจากเป็นมิตรภาพกลับเป็นศัตรูแต่เวลานั้นมา ทูลตามคิดดูโดยเดา มิได้อาศัยตำรับตำราอันใด ทูลมาสำหรับทรงคิดเล่น ส่วนการรดน้ำมนต์แก้ไข้เจ็บนั้นเป็นคติอีกทางหนึ่งต่างหาก มูลน่าจะมาแต่การรักษาไข้เจ็บด้วยรดน้ำ เช่นคนไข้ไปนั่งให้พระรดน้ำมนต์เสกพลางรดพลางอย่างอาบน้ำให้จนหมดมลทิน ยังรดกันเช่นนั้นอยู่จนทุกวันนี้ รดน้ำสังเขปมาจากรดเป็นโอสถ อย่างนี้จัดเป็นรดน้ำมนต์เพื่อเป็นสวัสดิมงคลไปด้วย แม้ที่สุดจนประพรมช้างม้าวัวควาย แม้น้ำมนต์พิธี เช่นพิธีตรุษเป็นต้น ว่าที่จริงก็อยู่ใน “ประเภทโอสถ” เหมือนกัน ถ้าว่าโดยย่อไถลเลยไปถึงที่รดน้ำในพิธีต่าง ๆ ดูต่างกันเป็น ๒ ประเภท คืออยู่ในประเภทภิเษกอย่าง ๑ อยู่ในประเภทโอสถอย่าง ๑ ด้วยประการฉะนี้”

น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการพระราชพิธีต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณี อาทิ น้ำสรงมุรธาภิเษก น้ำอภิเษก น้ำพระพุทธมนต์ ฯลฯ จะต้องพลีกรรมตักมาจากแหล่งน้ำสำคัญและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ จากนั้นจึงเสกด้วยพระพุทธมนต์ให้เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ต่อไป พิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์จะกระทำสองครั้ง โดยครั้งแรก เสกทำ ณ พระอารามสำคัญในมณฑลสถานอันเป็นที่ตั้งของแหล่งน้ำ ส่วนครั้งที่สอง เสกทำเมื่อจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธี

วันเฉลิมพระชนมพรรษา คือ วันบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี มีหลักฐานปรากฏชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภเกี่ยวกับการเฉลิมพระชนมพรรษาของพระมหากษัตริย์ ปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ดังเนื้อความต่อไปนี้

“...แต่เรื่องทำบุญวันเกิดในประเทศสยามนี้ไม่เป็นแบบอย่างเหมือนเช่นเมืองจีนหรือประเทศยุโรป ดูไม่ใคร่มีผู้ใดถือว่าจำจะต้องทำอย่างไรในวันเกิดของตัว มักจะนิ่ง ๆ ไปหรือไม่รู้สึกโดยมาก...การเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าแผ่นดินเล่า แต่เดิมมาก็ไม่มีแบบอย่างที่กล่าวถึงอย่างหนึ่งอย่างใด นอกจากรับเทวดาคราวหนึ่งคราวหนึ่ง ต่อมาถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมาเกิดการสร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา เป็นบำเพ็ญพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี แต่ก็ไม่ตรงตามกำหนดวันที่บรรจบรอบ ตามสุริยคติกาลหรือจันทรคติกาลอย่างหนึ่งอย่างใด...การทำบุญวันเกิดทุก ๆ ปีในเมื่อบรรจบรอบตามทางสุริยคติกาล เช่นทำกันอยู่ทุกวันนี้เกิดขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว ได้ทรงทำเป็นต้นเดิมมาแต่ยังทรงผนวช...จนถึงทุกวันนี้ก็เป็นนักขัตฤกษ์อย่างหนึ่ง ซึ่งคนทั้งปวงรู้สักว่าเป็นหน้าที่หรือเป็นธรรมเนียมที่จะต้องทำ...”

การถวายน้ำสรงอภิเษก หรือ การรดน้ำ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพิธีที่ทำให้ประชาชนจากทุกจังหวัดในราชอาณาจักรไทยได้มีส่วนร่วมในการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาและความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริยาธิราช ถือเป็นการเฉลิมพระเกียรติสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อชาติและราษฎร

สำหรับ พ.ศ. ๒๕๖๗ นับเป็นปีมหามงคลอีกวาระหนึ่งของประเทศไทยที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ รัฐบาลไทยได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณีหลากหลายกิจกรรม รวมถึงการจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จำนวน ๑๐๘ แห่งจาก ๗๖ จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยแหล่งน้ำ ๖ ประเภท คือ แม่น้ำ บึง สระ บ่อ ถ้ำ และน้ำตก
ทั้งนี้ การจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ มีกำหนดการพร้อมกันทั่วประเทศไทย เริ่มต้นด้วยพิธีพลีกรรมตักน้ำ ณ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด ในวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ซึ่งบ่อสามแสน อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ได้รับคัดเลือกให้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดกำแพงเพชร โดยรายละเอียดในพิธีพลีกรรมตักน้ำ ณ บ่อสามแสน มีดังนี้

นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานในพิธี โดยมีนางสาวสุพัตรา คล้ายทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกําแพงเพชร เป็นผู้เชิญที่ตักน้ำเนื้อโลหะทองเหลืองมีด้ามจับ ใช้สำหรับตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ และนายอนุชา พัสถาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกําแพงเพชร เป็นผู้เชิญขันสาคร ภาชนะเนื้อโลหะทองเหลืองมีหูจับเป็นหัวสิงห์พร้อมฝาปิด ใช้สำหรับบรรจุน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์

พิธีพลีกรรมตักน้ำเริ่มต้นด้วยประธานในพิธีถวายความเคารพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วเปิดกรวยกระทงดอกไม้บนธูปเทียนแพ ถวายความเคารพ จุดธูปเทียนที่โต๊ะวางเครื่องบวงสรวงเพื่อประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากบ่อสามแสน ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงปักธูปที่เครื่องบวงสรวง พราหมณ์หรือบัณฑิตอ่านโองการบวงสรวงบูชาเทพยดา เทพารักษ์ และผู้ดูแลรักษาสถานที่แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นประธานในพิธีอ่านคาถาพลีกรรมตักน้ำ แล้วตักน้ำจากบ่อสามแสนบรรจุลงในขันสาคร จากนั้นปิดฝาขันสาคร ห่อด้วยผ้าสีขาว ผูกริบบิ้นสีขาว แล้วเชิญขันสาครและที่ตักน้ำประจำรถบุษบก เพื่อแห่ขบวนเชิญและนำไปเก็บรักษาไว้ ณ พระอุโบสถ วัดคูยาง พระอารามหลวง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ และประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗

เมื่อทุกจังหวัดประกอบพิธีเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้วจะตักน้ำจากขันสาครบรรจุใส่คนโทน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อส่งไปยังกรุงเทพมหานคร สำหรับเก็บรักษาและรวบรวมไว้ที่กระทรวงมหาดไทย จากนั้นจัดพิธีแห่ขบวนเชิญคนโทน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ไปยังพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร เพื่อประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ครั้งที่สอง และจัดริ้วขบวนอิสริยยศเชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งบรรจุในพระเต้าปทุมนิมิตทอง พระเต้าปทุมนิมิตนาก และพระเต้าปทุมนิมิตเงิน นำไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง

น้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากบ่อสามแสนและแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์อีก ๑๐๗ แห่งทั่วประเทศไทยจึงเป็นดั่งการหลอมรวมสายธารแห่งความจงรักภักดีของปวงพสกนิกรชาวไทยอย่างพร้อมเพรียงกันที่น้อมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗

เอกสารอ้างอิง
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย. (๒๕๖๒). น้ำอภิเษก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย.
กระทรวงมหาดไทย.(๒๕๓๐). น้ำศักดิ์สิทธิ์ ประวัติน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐. โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง.
คณะกรรมการฝ่ายจัดพิธีและอัญเชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐. (๒๕๕๐). น้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย.
คณะทำงานจัดทำหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ. (๒๕๖๔). พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒. กระทรวงวัฒนธรรม.
คณะทำงานดำเนินงานพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์และพิธีแห่เชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์เข้าร่วมในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒. (๒๕๔๒). ประวัติน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นน้ำสรงอภิเษกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒. กระทรวงมหาดไทย.
คณะอนุกรรมการจัดทำต้นฉบับหนังสือราชาศัพท์. (๒๕๕๕). ราชาศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ ๔. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๕๐๖). พระราชพิธีสอบสองเดือน เล่ม ๓. องค์การค้าของคุรุสภา
นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (๒๕๐๕). สาส์นสมเด็จ เล่ม ๒๔. องค์การค้าของคุรุสภา.
ราชบัณฑิตยสถาน. (๒๕๕๖). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔. ราชบัณฑิตยสถาน.

Photos from อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร : Kamphaeng Phet Historical Park's post 01/07/2024

#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

บ่อสามแสน : แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองกำแพงเพชร

บ่อสามแสน ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิก อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยอยู่นอกกำแพงด้านหน้าของวัดอาวาสใหญ่ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๙.๕๐ เมตร ยาว ๑๖.๕๐ เมตร และลึกประมาณ ๖ เมตร ซึ่งเกิดจากการขุดเจาะลงไปในชั้นศิลาแลง เพื่อให้ฆราวาสและพระสงฆ์วัดอาวาสใหญ่มีน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค

บ่อสามแสนและวัดอาวาสใหญ่ ได้ดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีและบูรณะโบราณสถานหลายครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ช่วง พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๒ จากนั้นได้ดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๓๔ และดำเนินการบูรณะโบราณสถานในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๕

จากการดำเนินงานทางโบราณคดีพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญบริเวณบันไดของฐานกุฏิสงฆ์หลังหนึ่ง คือ ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งทรงไห ภายในบรรจุเครื่องลายครามจีน ภาชนะสำริด และช้อนเปลือกหอยมุก โดยเครื่องลายครามจีนภายในไหที่สามารถกำหนดอายุสมัยได้เป็นภาชนะทรงชาม ด้านในภาชนะบริเวณขอบปากเขียนลวดลายเรขาคณิต ด้านนอกภาชนะเขียนลายดอกไม้และพรรณพฤกษา และส่วนก้นภาชนะด้านนอก มีตัวอักษรจีนเขียนว่า “隆庆年制” อ่านว่า “หลง ฉิ้ง เหนียน ซื่อ” แปลว่า “ผลิตขึ้นในรัชศกหลงฉิ้ง” บ่งชี้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากกลุ่มเตาจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี ประเทศจีน กำหนดอายุได้ในสมัยราชวงศ์หมิง รัชกาลจักรพรรดิหลงฉิ้ง (พ.ศ. ๒๑๑๐-๒๑๑๖) ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระมหินทราธิราชถึงรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าวัดอาวาสใหญ่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง

บ่อสามแสน เป็นแหล่งทรัพยากรน้ำสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองกำแพงเพชรอันมีน้ำตลอดทั้งปี ตั้งแต่อดีตสืบถึงปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนผ่านสายพระเนตรของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ๒ พระองค์ ดังนี้

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชรเมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ร.ศ. ๑๒๕ และทรงพระราชนิพนธ์ “เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ ปรากฏพระราชวินิจฉัยที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีของจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีเนื้อความเกี่ยวกับบ่อสามแสน ความว่า
“…ข้างหน้าวัดมีสระ ๔ เหลี่ยม กว้างยาวลึกประมาณสัก ๕ วา ขุดลงไปในแลงเหมือนอ่างศิลา ไม่มีรอยก่อเลย มีห้องฝาแลงกั้นสำหรับพระสรงน้ำ คงจะใช้โพงคันชั่ง น้ำในนั้นมีบริบูรณ์ใช้ได้อยู่จนบัดนี้...”

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร และทรงพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ปรากฏข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโบราณสถาน แผนที่ และพระราชวินิจฉัยทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ทรงคุณค่า โดยมีเนื้อความเกี่ยวกับบ่อสามแสน ความว่า
“...นอกกำแพงแก้วออกไป มีบ่อน้ำใหญ่อยู่บ่อหนึ่ง เปนรูปสี่เหลี่ยม แต่แรกดูไม่ทราบว่าก่อด้วยอะไรครั้นพิจารณาดูแล้วจึงได้ความว่าบ่อนั้น หาได้มีสิ่งไรก่อเปนผนังไม่ ที่แผ่นดินตรงนั้นเปนแลง ขุดบ่อลงไปในแลง ข้าง ๆ บ่อนั้นพอถูกอากาศก็แขงเปนศิลา จึงดูเหมือนก่อเรียบร้อย เพราะฉนั้นเปนของควรดูอย่างหนึ่ง และเมื่อดูแล้วจะต้องออกรู้สึกอิจฉาว่าเขาทำบ่อได้ดี และถาวรโดยไม่ต้องเปลืองโสหุ้ยค่าก่อข้างบ่อด้วยสิลาฤๅอิฐปูนอะไรเลย บ่อนี้เปนพยานให้เห็นได้ว่าน่าจะเปนวัดใหญ่มีพระสงฆ์อยู่มาก...”

ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา บ่อสามแสนได้รับคัดเลือกให้เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดกำแพงเพชร มีการใช้น้ำจากบ่อสามแสนประกอบพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระราชพิธีสำคัญ ได้แก่
• พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
• พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐
• พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
• พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

ปัจจุบัน บ่อสามแสนเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ๑๐๘ แห่ง สำหรับการจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ซึ่งมีกำหนดการจัดพิธีพลีกรรมตักน้ำ ณ บ่อสามแสน ในวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยมีนายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานในพิธี

Photos from อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร : Kamphaeng Phet Historical Park's post 05/06/2024

#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เมืองชากังราว : ต้นทุนทางวัฒนธรรมของจังหวัดกำแพงเพชร..
วัฒนธรรม (Culture) คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งที่เป็นรูปธรรม เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ เป็นต้น และสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ประเพณี ศาสนา ความเชื่อ และหมายรวมถึงแบบแผนพฤติกรรมทั้งหมดของสังคมที่สืบทอดกันต่อมานับแต่อดีตผ่านการเรียนรู้ คิดค้น ดัดแปลงจากสิ่งแวดล้อม เป็นเทคโนโลยีแบบแผนประเพณี ศิลปกรรม เป็นต้น
ทุนทางวัฒนธรรม หมายถึง สิ่งดีงามที่มีอยู่เดิมของสังคมที่สั่งสมสืบทอดกันมา โดยอาจเป็นวัฒนธรรมสิ่งที่จับต้องได้ (Tangible) อาทิ วัดวาอาราม โบราณสถาน หรือวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible) เช่น ประเพณี ความเชื่อ .
Pierre Bourdieu นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้เสนอแนวคิดเรื่องทุนทางวัฒนธรรมว่าจำแนกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ทุนภายในตัวบุคคล (embodied state) อยู่ในรูปแบบของทุนทางวัฒนธรรมที่ผ่านการสั่งสมในตัวบุคคลมาเป็นเวลานาน และแสดงออกผ่านลักษณะทางกายภาพ พฤติกรรม หรือความรู้สึกนึกคิดผ่านตัวบุคคลนั้น ๆ
๒. ทุนทางรูปธรรม (objectified state) ทุนทางวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบวัตถุ โดยวัตถุนั้นสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ เช่น รูปภาพ หนังสือ เครื่องดนตรี เป็นต้น
๓. ทุนทางสถาบัน (institutionalized state) ทุนทางวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบของสังคม เกิดจากการเชื่อมโยงคุณค่าของบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งกับสถาบัน องค์กร หรือสถานที่ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะเป็นแหล่งกำเนิดหรือที่มาอันจะนำไปสู่การรับรองคุณค่าหรือคุณสมบัติที่อยู่ในบุคคลหรือวัตถุนั้น ๆ .
เมืองชากังราว เป็นเมืองโบราณที่ปรากฏชื่อตั้งแต่สมัยสุโขทัยในศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. ๑๙๑๑) สืบเนื่องมายังหลักฐานที่กล่าวถึงเรื่องราวในสมัยอยุธยา ได้แก่ กฎหมายตราสามดวง (พ.ศ. ๑๘๙๙ รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง) พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (พ.ศ. ๒๒๒๓) พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (พ.ศ. ๒๓๓๘) และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๑๑) ทั้งนี้จากหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวยังไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งของเมืองชากังราวได้แน่ชัด
พระวินิจฉัยในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกี่ยวกับเรื่องเมืองชากังราวปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาครั้งแรกในการจัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ และทรงพระนิพนธ์อธิบายเพิ่มเติมในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ว่าเมืองชากังราวเป็นเมืองเดิมของเมืองนครชุมซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำปิง ใต้ปากคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร และเป็นความเชื่อที่แพร่หลายในเวลาต่อมา ดังตัวอย่างความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง
“...เรื่องเมืองกำแพงเพชรเก่าใหม่ตรวจในสมัยต่อมาได้ความดังนี้ ที่เรียกว่าเมือง “นครปุ” นั้น ที่ถูกคือเมือง “นครชุม”...เมืองนี้ เมืองเดิมที่เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมืองชากังราว ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกใต้ปากคลองสวนหมาก เมืองกำแพงเพชรที่ริมน้ำทางฝั่งตะวันออกเป็นเมืองสร้างทีหลัง...”
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการที่สันนิษฐานคล้ายคลึงกันว่าเมืองชากังราวคือเมืองเดิมของเมืองกำแพงเพชร หรือตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เช่น ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร (บทความเรื่อง หลักการสอบค้นเมืองในสมัยสุโขทัย ในหนังสือ ผลงานค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทย และ เรื่องของเกลือ (ไม่) เค็ม) รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม (บทความเรื่อง เมืองกำแพงเพชร ในรายงานการสัมนาประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิดา สาระยา (บทความเรื่อง กำแพงเพชร - รัฐอิสระ ในรายงานการสัมนาประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร) .
จากความเชื่อที่แพร่หลายและความภาคภูมิใจว่าเมืองชากังราวคือเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรนั้น ทำให้ประชาชนในจังหวัดกำแพงเพชรนำทุนทางวัฒนธรรมนี้มาเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์เพื่อการบริการในท้องถิ่น สอดคล้องกับแนวคิดของ Pierre Bourdieu ในการนำทุนทางวัฒนธรรมประเภทที่สามทุนทางสถาบัน (institutionalized state) มาประยุกต์ใช้ โดยการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ของตนให้ตามชื่อเมืองเดิมในอดีตอันเป็นรากฐานวัฒนธรรมที่สืบต่อมายังปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด และความเป็นเอกลักษณ์ของชื่อที่บ่งบอกถึงจังหวัดกำแพงเพชร อาทิเช่น บะหมี่ชากังราว (ประมาณ ๘๐ ปีมาแล้ว ) เฉาก๊วยชากังราว (พ.ศ. ๒๕๔๔ ) สถานประกอบการ เช่น โรงแรมชากังราวริเวอร์วิว (พ.ศ. ๒๕๒๐ ) รวมถึงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดกำแพงเพชร เช่น การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ภาค ๕ ครั้งที่ ๔๐ “ชากังราวเกมส์” ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เป็นต้น..
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. (๒๕๕๐). ศัพทานุกรมโบราณคดี. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (๒๕๕๗). ประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง การให้ทุนอุดหนุนการวิจัยทางวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ประเภททุนทั่วไป. ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๗.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (๒๔๕๗). พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กับคำอธิบายของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เล่ม ๑ (พิมพ์ครั้งที่ ๒). หอสมุดวชิรญาณ.
ธิดา สาระยา. (๒๕๒๘). กำแพงเพชร - รัฐอิสระ. ใน รายงานการสัมนาประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร. (หน้า ๓๐๘-๓๑๗). วิทยาลัยครูกำแพงเพชร.
ประเสริฐ ณ นคร. (๒๕๑๔). หลักการสอบค้นเมืองในสมัยสุโขทัย. ใน ผลงานค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทย และ เรื่องของเกลือ (ไม่) เค็ม. (หน้า ๔๔-๔๗). โรงพิมพ์อักษรสมัย.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๕๑๙). เที่ยวเมืองพระร่วง (พิมพ์ครั้งที่ ๘). มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์.
ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๒๘). เมืองกำแพงเพชร. ใน รายงานการสัมนาประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร. (หน้า ๒๐๙-๒๑๕). วิทยาลัยครูกำแพงเพชร.
เอกราช จันทร์กลับ. (๒๕๖๓). แนวทางการบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : กรณีศึกษาสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช. [วิทยานิพนธ์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย].
Bourdieu, Pierre. (1986). The Forms of Capital. in Handbook of Theory and Research for the Sociology of Education (P 241-258). Greenwood.

Photos from อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร : Kamphaeng Phet Historical Park's post 01/05/2024

#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เมืองชากังราว : พระวินิจฉัยในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ..
เมืองชากังราว เป็นเมืองโบราณที่ปรากฏชื่อตั้งแต่สมัยสุโขทัยในศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. ๑๙๑๑) สืบเนื่องมายังหลักฐานที่กล่าวถึงเรื่องราวในสมัยอยุธยา ได้แก่ กฎหมายตราสามดวง (พ.ศ. ๑๘๙๙ รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง) พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (พ.ศ. ๒๒๒๓) พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (พ.ศ. ๒๓๓๘) และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๑๑).
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาและผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศไทยจนได้พระสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” โดยเรื่องเมืองชากังราวนั้นพระองค์ทรงวินิจฉัยไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และทรงพระนิพนธ์อธิบายเพิ่มเติมในหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยอ้างอิงจากพระราชพงศาวดาร และกฎหมายตราสามดวงว่า เมืองชากังราวเป็นเมืองเดิมของเมืองนครชุมซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำปิง ใต้ปากคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร
ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยเกี่ยวกับเมืองชากังราวไว้ดังนี้
“...ข้าพเจ้าจะต้องอธิบายเรื่องชากังราวไว้ตรงนี้สักหน่อยหนึ่งด้วยยังไม่ได้พบอธิบายในที่อื่นว่า เมืองชากังราวเป็นเมืองไหนแน่ในปัจจุบันนี้ ในหนังสือพระราชพงศาวดารมีเรื่องที่เกี่ยวแก่เมืองชากังราวหลายแห่ง ในตอนแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชนี้เป็นอย่างมาก แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐยังออกชื่อเสียงชากังราว ลงไปถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบแผนที่เข้ากับเรื่องที่มีมาในพระราชพงศาวดาร เห็นว่าเมืองชากังราวจะเป็นเมืองอื่นนอกจากเมืองกำแพงเพชรทุกวันนี้ไม่ได้ และได้พบหลักฐานประกอบในพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เรียกชื่อเมืองชาวดงราว กำแพงเพชรควบกันไว้ดังนี้ (คำว่าชาดงราวนั้น เชื่อได้แน่ว่าผู้คัดลอกเขียนผิดมาจากชากังราวนั้นเอง) ที่เมืองกำแพงเพชรที่จริงมีเมืองตั้งติดต่อกันอยู่ถึง ๓ เมือง เมือง ๑ อยู่ข้างฝั่งตะวันตก ยังมีพระมหาธาตุอยู่ เมืองนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นเมืองเดิม ที่เรียกชื่อว่า “ชากังราว” ต่อมาสร้างเมืองขึ้นอีกเมืองข้างฝั่งตะวันออก เมืองนี้เห็นชื่อในจารึกของพระมหาธรรมราชา (ลิไทย) เรียกว่าเมืองนครชุม มีวัดวาอารามใหญ่โต ซึ่งเป็นฝีมือสร้างครั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานีอยู่หลายวัด ต่อมาเห็นจะเป็นด้วยเกิดเกาะขึ้นตรงหน้าเมืองนครชุม สายน้ำเปลี่ยนไปเดินข้างตะวันตก ทำให้เมืองนครปุเป็นเมืองดอนไป จึงสร้างเมืองกำแพงเพชรเดี๋ยวนี้ขึ้นที่ริมแม่น้ำหน้าเมืองนครชุม มีป้อมกำแพงอย่างแข็งแรงไว้สำหรับต่อสู้ข้าศึก อยู่ตรงข้ามกับเมืองชากังราวเดิม ชาวข้างใต้คงจะเรียกชื่อเมืองชากังราวอยู่ตามเดิมโดยมาก โหรจึงใช้ชื่อนั้นจดลงในปูม และพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระรามาธิบดี จึงใช้ควบกันทั้งชื่อเก่าและชื่อใหม่ ที่หนังสือพระราชพงศาวดารว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตีเมืองชากังราวนั้น คือไปตีเมืองกำแพงเพชรเป็นแน่ ไม่มีที่สงสัย...”.
ในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์อธิบายเพิ่มเติมความตอนหนึ่งว่า
“...เรื่องเมืองกำแพงเพชรเก่าใหม่ตรวจในสมัยต่อมาได้ความดังนี้ ที่เรียกว่าเมือง “นครปุ” นั้น ที่ถูกคือเมือง “นครชุม” เพราะในจารึกเขียนว่า “นคระชุํ” ดังนี้ เมื่ออ่านกันชั้นแรกเข้าใจว่าชื่อนครปุ ต่อภายหลังจึงพิจารณาเห็นว่า ชุํเมืองนี้ เมืองเดิมที่เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมืองชากังราว ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกใต้ปากคลองสวนหมาก เมืองกำแพงเพชรที่ริมน้ำทางฝั่งตะวันออกเป็นเมืองสร้างทีหลัง...”.
จากพระวินิจฉัยในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หากพิจารณาลำดับชื่อเมืองที่ถูกอ้างถึงจำนวนสองครั้งในเนื้อความบทพระอัยการลักษณะลักพาของกฎหมายตราสามดวง ไม่ได้ปรากฏการเรียงลำดับแบบเดียวกันทั้งสองครั้ง แสดงให้เห็นว่า ชื่อ “ชากังราว” ที่อยู่ติดกับคำว่า “กำแพงเพชร” นั้น ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดถึงการเป็นเมืองที่อยู่ใกล้กัน หรือเป็นชื่อเมืองเดียวกันแต่อย่างใด นอกจากนี้อาจเป็นเพียงการสื่อถึงกลุ่มเมืองในการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยอันห่างไกลจากอาณาจักรอยุธยา ส่วนเหตุการณ์สมัยพระบรมไตรนาถที่กล่าวถึงพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนามาตีเมืองชากังราวก่อนตีเมืองสุโขทัยในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์นั้น อนุมานได้ว่าเมืองชากังราวอยู่ใกล้ล้านนามากกว่าเมืองสุโขทัย อีกทั้งข้อความในศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ ก็ปรากฏชื่อเมืองชากังราว และเมืองนครชุมในสมัยเดียวกัน จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเมืองทั้งสองเป็นเมืองเดียวกัน
ทั้งนี้ไม่ว่าจากเอกสารกฎหมายตราสามดวง ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ หรือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ล้วนแต่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งของเมืองชากังราวได้..
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงมหาดไทย. (๒๕๐๕). สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และงานทางปกครองของพระองค์. โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมมหาดไทย.
กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. (๒๕๔๒). พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ (พิมพ์ครั้งที่ ๙). กรมศิลปากร.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. (2559). ศรีปัญญา.
ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (๒๕๕๙). โบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทยฉบับคู่มือครูสังคมศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ ๒). คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๕๖๔). เที่ยวเมืองพระร่วง. ศรีปัญญา.
สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (๒๕๔๘). ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรมศิลปากร.

ต้องการให้ธุรกิจของคุณ ธุรกิจ ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง บริการภาครัฐ ใน Kamphaeng Phet?
คลิกที่นี่เพื่อเป็นสมาชิก?

วิดีโอทั้งหมด (แสดงผลทั้งหมด)

๑๑๒ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร พุทธศักราช ๒๕๖๖

เบอร์โทรศัพท์

เว็บไซต์

ที่อยู่


Kamphaeng Phet Historical Park
Kamphaeng Phet
62000

เวลาทำการ

จันทร์ 08:00 - 16:30
อังคาร 08:00 - 16:30
พุธ 08:00 - 16:30
พฤหัสบดี 08:00 - 16:30
ศุกร์ 08:00 - 16:30
เสาร์ 08:00 - 16:30
อาทิตย์ 08:00 - 16:30

จุดสังเกตและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ อื่นๆใน Kamphaeng Phet (แสดงผลทั้งหมด)
พระซุ่มกอนครชุมรับเช่าเช็กฟรีครับ พระซุ่มกอนครชุมรับเช่าเช็กฟรีครับ
Kamphaeng Phet, 62000

สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับ เพจพระกำแพ?