อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: STeP
อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Science & Technology Park (STeP)
อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์ชั้นนำของเอเชียที่สามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรของมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าแบบองค์รวม
ให้บริการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ด้วยงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน การบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สร้าง Startup ออกแบบบรรจุภัณฑ์นวัตกรรมและสื่อประชาสัมพันธ์ ให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งขอรับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมบริการห้องปฏิบัติการและโรงงานต้นแบบเทคโนโลยีอย่างครบวงจร

💪 อุทยานวิทย์ฯ มช. จัดอบรมเสริมศักยภาพชุมชน สร้างนวัตกรรม “ผำ” สู่ตลาดสุขภาพ
-----------------------------
วันนี้ (13 มิ.ย. 68) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทีมสตาร์ทอัพท้องถิ่นและเทคโนโลยีเพื่อชุมชน (Local Startup and Technology for Community) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "Green Protein from Local Wisdom ปั้นชุมชนสู่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต" นำโดย ดร.วศิน วงศ์วิไล ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยวิจัยพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ ให้เกียรติร่วมแบ่งปันความรู้แก่ กลุ่มเกษตร , วิสาหกิจชุมชน , นักศึกษา , นักวิจัยด้านอาหารและเกษตร , ผู้ประกอบการด้านอาหารเพื่อสุขภาพ และหน่วยงานสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เข้าร่วมอบรมกว่า 40 คน ณ Multi Purpose Room (D204) อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมด้านนวัตกรรมการเลี้ยงผำ ขยายจากภูมิปัญญาชาวบ้านสู่ระบบการเพาะเลี้ยงผำแบบครบวงจรที่เหมาะสมกับบริบทชุมชนและสอดคล้องกับมาตรฐาน GAP เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและความปลอดภัย ยกระดับสู่ตลาดสมัยใหม่ที่สามารถต่อยอดในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตต่อไป
-----------------------------

เสริมแกร่งผู้ประกอบการภูมิภาค!
ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 พา SMEs/Startup ศึกษาดูงานนวัตกรรมครบวงจร ณ อุทยานวิทย์ มช.
----------------------
วันที่ 13 มิถุนายน 2568 อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การต้อนรับคณะผู้ประกอบการ SMEs และ Startup จากศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 ในโอกาสเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานด้านการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยี ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) ในการศึกษาดูงานครั้งนี้ ผู้ประกอบการได้รับฟังการบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหัวข้อที่สำคัญ อาทิ การสร้างและพัฒนา Startup การให้คำปรึกษาธุรกิจ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนกระบวนการยื่นขอรับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากอุทยานฯ
พร้อมกันนี้ คณะผู้เยี่ยมชมยังได้เยี่ยมชมโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovative Food Fabrication Pilot Plant)
ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมอาหารให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

งานวิจัยใหม่ค้นพบ
ปัจจุบันมหาสมุทรมืดลง 🌊🌊⚫
ส่งผลต่อระบบนิเวศมากถึง 90%
____________
งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Global Change Biology พบว่ากว่าหนึ่งในห้าของพื้นที่มหาสมุทรทั่วโลก คิดเป็นพื้นที่มากกว่า 75 ล้านตารางกิโลเมตร ได้ประสบกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "ความมืดของมหาสมุทร" (Ocean Darkening) ตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โดยความมืดในที่นี้ หมายถึงการที่แสงอาทิตย์และแสงจันทร์สามารถส่องลงไปในน้ำได้น้อยลง ส่งผลให้ “โซนรับแสง” (Photic Zone) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รองรับระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตทางทะเลมากถึง 90% มีขนาดเล็กลงตามไปด้วย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพลีมัธและห้องปฏิบัติการทางทะเลพลีมัธ ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมร่วมกับแบบจำลองเชิงตัวเลข เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงรายปีของความลึกโซนรับแสงทั่วโลก ระหว่างปี ค.ศ. 2003 ถึง 2022 จนพวกเขาได้พบว่าประมาณ 21% ของพื้นที่มหาสมุทร ทั้งในเขตชายฝั่งและมหาสมุทรเปิด มีความลึกของโซนรับแสงลดลง โดย 9% ของพื้นที่ทั้งหมดมีโซนรับแสงที่ตื้นขึ้นเกิน 50 เมตร และ 2.6% ตื้นลงมากกว่า 100 เมตร ในขณะที่มีบางพื้นที่ราว 10% ที่โซนรับแสงกลับลึกขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
ผู้วิจัยได้อธิบายถึงสาเหตุของปรากฏการณ์นี้ในหลายปัจจัย โดยเฉพาะในเขตชายฝั่งที่มีการสะสมของตะกอน สารอินทรีย์ และสารอาหารจากกิจกรรมบนบก เช่น น้ำทิ้งจากการเกษตรและปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ต่างกระตุ้นการเติบโตของแพลงก์ตอนและลดการส่องผ่านของแสง ซึ่งในพื้นที่มหาสมุทรเปิด ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของพลวัตแพลงก์ตอนพืช และอุณหภูมิผิวน้ำที่ส่งผลต่อการกระจายของแสงในน้ำทะเล
ดร.โธมัส เดวีส์ จากมหาวิทยาลัยพลีมัธ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงลักษณะของแสงในมหาสมุทรเหล่านี้ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาแสงในการดำรงชีวิตและสืบพันธุ์ รวมถึงผลกระทบต่อการผลิตออกซิเจน การจัดหาทรัพยากรอาหาร การดูดซับคาร์บอน และความสมดุลของระบบนิเวศโดยรวม ขณะที่ศาสตราจารย์ทิม สมิธ เสริมว่าเมื่อโซนรับแสงตื้นลงมากถึง 50 เมตรในหลายพื้นที่ สัตว์น้ำที่ต้องการแสงจะถูกบีบให้รวมตัวใกล้ผิวน้ำมากขึ้น เกิดการแข่งขันเพื่อทรัพยากรอย่างเข้มข้น และอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อโครงสร้างของระบบนิเวศทางทะเล
การศึกษานี้ยังใช้แบบจำลองแสงอาทิตย์และแสงจันทร์เพื่อพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน โดยพบว่าการเปลี่ยนแปลงในยามกลางวันมีขนาดใหญ่กว่า แต่การเปลี่ยนแปลงในยามค่ำคืนก็ยังคงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ นักวิจัยเน้นว่าการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงที่สุดพบในเขตปลายของกระแสน้ำกัลฟ์สตรีม และบริเวณอาร์กติกและแอนตาร์กติก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ในขณะที่เขตชายฝั่งและทะเลปิดอย่างทะเลบอลติกก็เผชิญกับการมืดลงอย่างแพร่หลายเช่นกันจากผลของน้ำฝนที่พาตะกอนและสารอาหารลงสู่ทะเล

💪 STeP รวมพลังเปิดบ้านต้อนรับ วตท. รุ่นที่ 35 ยกระดับวิจัย-นวัตกรรมสู่การพัฒนาสตาร์ทอัพภูมิภาค
—————————————
✨ วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2568 อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารภายใต้หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง จากสถาบันวิทยาการตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (วตท.) รุ่นที่ 35 ในโอกาสเข้าศึกษาดูงาน โดยมี ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ ให้การต้อนรับพร้อมบรรยายในหัวข้อ “Innovation and Value Creation: Startup Nation Journey from Local to Global” และได้รับเกียรติจาก คุณประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ร่วมบรรยายในหัวข้อ “โอกาสการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมก้าวสู่ตลาดทุนอย่างมีคุณภาพ” และถ่ายทอดแนวทางการพัฒนาสตาร์อัพนวัตกรรม ณ Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
ทั้งนี้ ยังได้มีการจัดบูธแสดงผลงานนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพร่วมกับผู้ประกอบการที่เข้ารับการบ่มเพาะจากอุทยานฯ ผ่านโครงต่าง ๆ กว่า 30 ผลิตภัณฑ์ ให้ทางคณะ ได้เยี่ยมชมและทดลองผลิตภัณฑ์ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
—————————————
#วตท35
#สถาบันวิทยาการตลาดทุน #ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มช.
ขอแสดงความยินดี 💫
✨ศาสตราจารย์ ดร.คมกฤต เล็กสกุล
ในโอกาสที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
📍 ให้ดำรงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” 📍
ในสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อาบป่าช่วยบรรเทาปวดหลัง 🌳🌲🌴
ผลการศึกษางานวิจัยล่าสุด
____________
ทำเอาฮือฮาพอสมควร เพราะงานวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Pain ได้ออกมาเปิดเผยว่าการใช้เวลาอยู่ในธรรมชาติหรืออยู่ในบริเวณใกล้เคียงธรรมชาติ สามารถช่วยให้ผู้ที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังรู้สึก “หลุดพ้น” จากความเจ็บปวดบางส่วน และช่วยให้พวกเขาจัดการกับภาวะไม่สบายทางกายภาพได้ดีขึ้นด้วย!
โดยงานวิจัยนี้ถือเป็นครั้งแรกที่หยิบเอาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรังมายาวนาน (บางรายนานถึง 40 ปี) กับบทบาทของธรรมชาติในการรับมือกับความเจ็บปวดในชีวิตประจำวันมาศึกษา ผ่านวิธีการคือคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยพลีมัธและมหาวิทยาลัยเอกซิเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวน 10 ราย ซึ่งมีประสบการณ์กับภาวะปวดหลังเรื้อรังระหว่าง 5 ถึง 38 ปี ซึ่งผลการศึกษาพบว่าธรรมชาติไม่เพียงเป็นสภาพแวดล้อมที่ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากความเจ็บปวดเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และลดความรู้สึกโดดเดี่ยวที่มักเกิดจากการต้องอยู่ในบ้านหรือในที่จำกัดเป็นเวลานาน
เช่นมีผู้เข้าร่วมวิจัยที่ได้ระบุว่าธรรมชาติให้ความรู้สึกผ่อนคลายและปลอดภัย โดยเฉพาะองค์ประกอบของธรรมชาติ เช่น อากาศบริสุทธิ์ เสียงของน้ำ และภาพทิวทัศน์ที่สวยงาม ทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลจากอาการเจ็บปวด อีกทั้งกิจกรรมในธรรมชาติ เช่น การเดินในสวนหรือพื้นที่เขียวขจี ยังเป็นทางเลือกที่ผู้ป่วยรู้สึกว่า “น่าเพลิดเพลิน” กว่าการออกกำลังกายในยิมหรือสถานที่ปิด
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมวิจัยก็ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติที่มีอุปสรรค เช่น ทางเดินที่ไม่ราบเรียบ การขาดแคลนที่นั่งพัก และสภาพพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับผู้ที่มีข้อจำกัดทางกาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้ป่วยบางรายลังเลที่จะไปเยี่ยมเยียนพื้นที่ธรรมชาติเหล่านั้น แม้จะรู้ถึงประโยชน์ก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ คณะผู้วิจัยจึงเสนอแนะให้บุคลากรด้านสุขภาพและผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง พิจารณาบทบาทของธรรมชาติในฐานะเครื่องมือทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาวะ โดยแนะนำให้มีการออกแบบพื้นที่ธรรมชาติให้มีความเข้าถึงง่ายมากขึ้น เช่น การเพิ่มทางเดินที่ปลอดภัยและจุดพักผ่อนให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้โดยไม่รู้สึกเป็นภาระ
นอกจากนี้ คณะวิจัยยังอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality) ร่วมกับกลุ่มผู้มีอาการปวดเรื้อรังรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่ไม่สามารถออกไปสัมผัสธรรมชาติได้ด้วยตนเอง ยังสามารถเข้าถึงประสบการณ์เชิงบำบัดจากธรรมชาติได้ในรูปแบบเสมือน ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการเพิ่มความครอบคลุมและความเท่าเทียมในการดูแลผู้ป่วยอาการปวดเรื้อรังในอนาคต
Alexander Smith นักวิจัยระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยพลีมัธ และผู้นำการศึกษา กล่าวสรุปว่า “ความเจ็บปวดเรื้อรังไม่เพียงส่งผลต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังสร้างภาวะโดดเดี่ยวและความเหนื่อยล้าทางใจ การเข้าถึงธรรมชาติอาจเป็นกลไกใหม่ในกระบวนการบำบัดที่ควรถูกให้ความสำคัญยิ่งขึ้น ทั้งในเชิงกายภาพ จิตใจ และการออกแบบนโยบายที่คำนึงถึงสุขภาวะโดยรวมของมนุษย์”

👍 คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ศรีราชา เยือน STeP
ศึกษาดูงานการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมยั่งยืน
---------------------------------
🙌 วันพุธที่ 11 มิถุนายน 2568 อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารและบุคลากรจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ในโอกาสเข้าศึกษาดูงานด้านการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ณ The Brick X อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
ในโอกาสนี้ อาจารย์ ดร.รอม แพสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไปอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้เกียรติบรรยายภาพรวมการดำเนินงานของอุทยานฯ ทั้งในด้านการสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรม การเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ตลอดจนบทบาทของอุทยานฯ ในการส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยคณะศึกษาดูงานยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและซักถามในประเด็นต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในบทบาทของอุทยานฯ อันจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้น จึงได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหารครบวงจร (Innovative Food Fabrication Pilot Plant) เพื่อศึกษากระบวนการผลิตต้นแบบอาหารด้วยเทคโนโลยีทันสมัย พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารเพื่อยกระดับภาคธุรกิจ
#มช #เกษตรศาสตร์

ภูเขาจูบในซูดาน ⛰️👄💋
เกิดขึ้นได้อย่างไร?
____________
เมื่อปี ค.ศ. 2012 ภาพถ่ายจากดาวเทียม Google Earth ได้บันทึกภาพภูเขารูปทรงแปลกตาในรัฐดาร์ฟูร์ตะวันตกของประเทศซูดานไว้ได้ โดยมีลักษณะคล้าย “ริมฝีปากมนุษย์” ที่กำลังจูบอากาศ ภูเขาลูกนี้จึงได้รับฉายาว่า “Landlocked Lips” หรือ “ริมฝีปากกลางทะเลทราย” ซึ่งแม้จะไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ และไม่พบข้อมูลด้านอายุหรือความสูงของเนินเขานี้อย่างแน่ชัด แต่ภาพถ่ายดังกล่าวก็สร้างความสนใจในหมู่นักธรณีวิทยาและนักสังเกตการณ์จากอวกาศอย่างมาก
ลักษณะเด่นของเนินเขานี้คือมีความยาวประมาณ 900 เมตร และกว้างประมาณ 350 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากพรมแดนซูดาน–ชาดทางตะวันออกประมาณ 95 กิโลเมตร โดยในภาพถ่ายจากปี 2012 เนินเขาดังกล่าวถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่แห้งแล้งและต้นไม้ประปราย ทำให้สีชมพูของเนินเขาโดดเด่นขึ้นยิ่งกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายที่ใหม่กว่าในปี 2025 แสดงให้เห็นว่า บริเวณดังกล่าวได้ฟื้นตัวเป็นพื้นที่เขียวขจี มีต้นไม้และพืชพรรณมากขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว
และแม้จะยังไม่มีการสำรวจทางภาคสนามอย่างเป็นทางการ แต่นักธรณีสัณฐานวิทยา เช่น ศาสตราจารย์ Josh Roering จากมหาวิทยาลัย Oregon ได้แสดงความเห็นผ่านการวิเคราะห์ภาพถ่ายว่าจุดเด่นที่เห็นกลางสันเขาน่าจะเป็น “Dyke” หรือแนวหินที่แข็งแรงกว่าหินโดยรอบ ซึ่งอาจเกิดจากกระบวนการภูเขาไฟ หรือการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก โดยไดก์มักจะมีลักษณะเป็นแนวตั้งตัดผ่านชั้นหินแนวนอน และสามารถต้านทานการกัดเซาะได้ดีกว่า ทำให้พื้นที่รอบข้างถูกกัดเซาะมากกว่า ส่งผลให้เกิดสันเขาแปลกตาในลักษณะเช่นนี้
Roering ยังอธิบายเพิ่มเติมไว้ด้วยว่าหากแนวหินแข็งกลางสันเขานั้นคือไดก์จริง รูปร่างและขอบเขตของมันจะเป็นตัวกำหนดรูปลักษณ์โดยรวมของภูเขา เนื่องจากหินโดยรอบที่มีความต้านทานน้อยกว่าจะถูกกัดเซาะออกไป เหลือเพียงแนวหินแข็งที่นูนขึ้นมาเป็นสันเขาในรูปทรงคล้ายริมฝีปาก ทั้งนี้ โครงสร้างทางธรณีวิทยาในลักษณะคล้ายกันสามารถพบได้ในพื้นที่ทะเลทรายนิวเม็กซิโก และกลุ่มไดก์แมคเคนซีในประเทศแคนาดา
อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานทั้งหมดนี้ยังคงอยู่ในระดับสมมุติฐาน เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาเชิงลึกหรือสำรวจภาคสนามในพื้นที่จริง นักวิจัยจึงยังคงเปิดกว้างต่อการตีความเพิ่มเติมในอนาคต โดยเน้นย้ำว่า ภูมิประเทศแปลกตาเช่นนี้เป็นหลักฐานที่น่าสนใจในการศึกษาวิวัฒนาการของเปลือกโลก และแสดงให้เห็นถึงพลังของธรรมชาติในการสร้างสรรค์รูปร่างภูมิประเทศที่น่าทึ่งและชวนสงสัยจากมุมสูงของโลกเรา

👍 STeP ร่วมคัดเลือกผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพ เพื่อพัฒนาทักษะสู่เมืองสุขภาพระดับโลก
--------------------------
👉 วันอังคารที่ 10 มิถุนายน 2568 ผศ.ดร.สุริยะ ทองมุณี รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เข้าร่วมเป็นกรรมการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการเชียงใหม่เมืองแห่งอุตสาหกรรมและธุรกิจสุขภาพระดับโลก (Chiang Mai World Class Wellness City) ภายใต้กิจกรรมหลักที่ 2 “พัฒนาทักษะการประกอบอาชีพสำหรับบุคลากรในอุตสาหกรรมและธุรกิจสุขภาพ” (Health & Wellness Worker Up Skill) ณ Conference Hall (D206) อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
✨โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคุณสงกรานต์ มูลวิจิตร อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมทำหน้าที่คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบถ้วน มีศักยภาพความพร้อม และความมุ่งมั่นในการพัฒนาทักษะบุคลากรในธุรกิจสุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่การเป็นเมืองสุขภาพระดับโลกอย่างเป็นรูปธรรม

STeP ร่วมประชุมขับเคลื่อนงานอุทยานวิทย์ฯ ภาคเหนือ
เสริมพลังเครือข่าย สู่การยกระดับผู้ประกอบการในภูมิภาค
-------------------
วันที่ 10 มิถุนายน 2568 อาจารย์ ดร.รอม แพสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไป อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหารและบุคลากรอุทยานฯ เข้าร่วม “การประชุมติดตามการดำเนินงานและพัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2568” ณ อาคาร ICIT มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการด้วยกลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)
ภายในงานมีการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบนิเวศนวัตกรรม, การยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจในท้องถิ่นด้วยการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและโครงสร้างพื้นฐาน ววน. และการพัฒนาและส่งเสริมกิจการของอุทยานวิทยาศาสตร์
การเข้าร่วมประชุมของ STeP ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เสริมสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย และผลักดันให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อผู้ประกอบการและชุมชนในภูมิภาค
#อุทยานวิทย์ภาคเหนือ

รู้ได้อย่างไรว่าคนนี้เชื่อใจได้? 🐍🐍🐍
ลองพิจารณจาก 3 มิตินี้
____________
ถ้าให้ลองนึกทบทวนตามมุมมองของแต่ละคน เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนน่าจะคิดเห็นตรงกัน ว่าหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับผู้อื่นนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องมีเลยคือ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” แต่การจะทบทวนว่ามิตรใหม่ของเราเชื่อใจได้หรือไม่นั้นก็ต้องอาศัยปัจจัยในการพิจารณาหลายประการ อีกทั้งในแต่ละบุคคลก็อาจเรียกร้องแตกต่างกันไป เพื่อประเมินว่าเราสามารถไว้วางใจบุคคลที่อยู่ตรงหน้าเราได้มากเพียงใด
แต่ปัจจัยในการพิจารณาความไว้เนื้อเชื่อใจเหล่านี้เอง ที่นำมาสู่งานวิจัยล่าสุดที่เราหยิบมาเล่าให้ฟังกัน
โดยเกริ่นนกันถึงทฤษฎีของ Erik Erikson และทฤษฎีความผูกพัน (attachment theory) กันก่อน ที่ทั้งสองทฤษฎีนี้ต่างชี้ไปว่า “ความเชื่อใจ” เป็นรากฐานสำคัญของพัฒนาการทางบุคลิกภาพ ดังนั้นหากเด็กได้รับความรู้สึกปลอดภัยตั้งแต่ช่วงวัยแรกเริ่ม พวกเขาย่อมมีแนวโน้มพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ที่มีทัศนคติเชิงบวกต่อความสัมพันธ์ หรือพูดง่าย ๆ ว่ามีมุมมองเชิงบวกต่อการเชื่อใจผู้อื่น แต่อย่างไรก็ตาม ในการตัดสินใจว่าจะเชื่อใจใครในชีวิตจริง นอกเหนือจากบุคลิกที่มีผลแน่ ๆ แล้ว อย่างอื่นล่ะ มีบทบาทมากน้อยแค่ไหน?
งานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับข้อคำถามข้างต้นนี้ นำโดยทีมของ Shimrit Fisher นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยไฮฟา ประเทศอิสราเอล โดยเขาได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง “ความเชื่อใจเชิงญาณวิทยา” (Epistemic Trust: ET) ที่มีรากฐานแรกเริ่มจากความสัมพันธ์ของผู้บำบัดกับนักบำบัด โดยได้นิยามแนวคิดนี้ว่เป็นความโน้มเอียงของผู้รับการบำบัดในการรับรู้สัญญาณจากนักบำบัด ความสัมพันธ์ในกระบวนการบำบัด และบริบทโดยรวม ว่าเป็นข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องและมีคุณค่าแก่ตัวผู้บำบัดเอง
โดยจากการวิเคราะห์บทสนทนาในการบำบัดจากผู้เข้าร่วม 118 ราย ทีมวิจัยได้พัฒนาเครื่องมือชื่อ “Epistemic Trust Rating System” (ETRS) ขึ้นมา ที่ได้แบ่งมิติค่านิยมความเชื่อใจออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1) การเปิดเผยความรู้สึก (Sharing), 2) การสื่อสารในรูปแบบ “we-mode” หรือการแลกเปลี่ยนที่สะท้อนการรับรู้ร่วมกัน, และ 3) ความเปิดกว้างต่อการเรียนรู้ (Learning) ซึ่งผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าผู้เข้ารับการบำบัดจะมีแนวโน้มรู้สึกผูกพันกับนักบำบัดมากขึ้น หากรับรู้ว่านักบำบัดมีการเปิดเผยความรู้สึกต่อกัน แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และเปิดกว้างที่จะรับฟังพวกเขา
โดยผู้วิจัยยังได้อธิบายต่อไปด้วยทั้งสามมิตินี้มีตัวบ่งชี้ที่สามารถสังเกตได้ในชีวิตประจำวันเช่นกัน เช่น ในมิติ “we-mode” ผู้ที่สื่อสารแบบมีการรับ-ส่งความคิดอย่างสอดคล้อง เช่น พูดต่อประโยคของกันและกัน หรือใช้ภาษาร่วมกัน ที่จะสะท้อนถึงระดับความไว้ใจที่สูงขึ้น ส่วนการเปิดเผยความรู้สึกแสดงถึงความพร้อมในการเปิดใจ และมิติการเรียนรู้สะท้อนถึงท่าทีต่อความคิดเห็นหรือข้อมูลใหม่ๆ ของอีกฝ่าย ซึ่งล้วนเป็นตัวชี้วัดสำคัญของความไว้วางใจในความสัมพันธ์ทั้งนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่าถ้าเรารับรู้ว่าคนตรงหน้ามีทั้ง 3 มิตินี้ที่ต่อติดกับเรา แนวโน้มที่เราจะเชื่อใจก็จะมีมากขึ้นนั่นเอง
แต่นอกเหนือจากข้อสังเกตุข้างต้นแล้ว ยังมีข้อค้นพบอีกประการจากงานวิจัยด้วยว่าคือบุคคลที่มีแผลจากประสบการณ์ความผูกพัน (insecure attachment) มักมีแนวโน้มไม่ไว้วางใจผู้อื่น โดยแสดงอาการระแวง กลัวการถูกปฏิเสธ และมีมุมมองเชิงลบต่อความสัมพันธ์ แต่ถึงกระนั้น การใช้เครื่องมือเช่น ETRS อาจช่วยให้ผู้อื่นสามารถสังเกตและตอบสนองได้อย่างเหมาะสมต่อคนที่มีระดับความเชื่อใจต่ำเหล่านี้ด้วย
ดังนั้นแล้ว ผู้วิจัยจึงได้สรุปถึงแนวคิดเรื่อง “ความเชื่อใจเชิงญาณวิทยา” และตัวบ่งชี้ทั้งสามมิติว่าสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการประเมินความไว้ใจในความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะความสามารถในการเชื่อใจ และการได้รับความเชื่อใจ คือรากฐานของความสัมพันธ์ที่มีความหมายและนำไปสู่การเติบโตทั้งในระดับบุคคลและระหว่างบุคคลนั่นเอง

STeP ร่วมเชื่อมพลังเครือข่าย RSP North เดินหน้าสร้างนวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคอย่างยั่งยืน
------------------
วันที่ 9 มิถุนายน 2568 อาจารย์ ดร.รอม แพสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไป อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมคณะผู้บริหารและบุคลากร เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ ครั้งที่ 2/2568 ณ ห้องประชุมพิชัยสงคราม อาคาร ICIT มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยมีผู้แทนจาก 14 มหาวิทยาลัยในเครือข่ายเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ภายในการประชุม ได้มีการนำเสนอผลการดำเนินงานของอุทยานฯ ในปีงบประมาณ 2567–2568 ทั้งในด้านการยกระดับผู้ประกอบการด้วยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับระบบนิเวศผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การใช้พื้นที่ทดสอบตลาดสำหรับสินค้าและบริการจากงานวิจัยผ่าน INNO STORE รวมถึงการเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับมหาวิทยาลัยพันธมิตร โดย STeP ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่เป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมในระดับภูมิภาค ด้วยความร่วมมือที่แน่นแฟ้นภายใต้เครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ
คลิกที่นี่เพื่อเป็นสมาชิก?
STeP
อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Science and Technology Park, Chiang Mai University : STeP) องค์กรในกำกับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีภารกิจหลักในการเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม (University-Industry Linkage : UIL) เพื่อผลักดันให้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของนักวิจัย อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญภายในมหาวิทยาลัยออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยเน้นความต้องการของภาคเอกชนเป็นหลัก ผ่านกลไกการให้บริการที่หลากหลาย ครอบคลุมถึงการทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน การบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (Teach Startups) การถ่ายทอดเทคโนโลยี การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์เทคโนโลยี การออกแบบนวัตกรรม การให้บริการห้องปฏิบัติการและเครื่องมือปฏิบัติการ การให้บริการโรงงานต้นแบบเทคโนโลยี โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อสร้างฐานความรู้และนวัตกรรม ยกระดับเศรษฐกิจ พร้อมลดความเหลื่อมล้ำในระดับภูมิภาค
ประเภท
เว็บไซต์
ที่อยู่
ชั้น 2 (อาคาร A) อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
Chiang Mai
50100
เวลาทำการ
จันทร์ | 08:30 - 17:00 |
อังคาร | 08:30 - 17:00 |
พุธ | 08:30 - 17:00 |
พฤหัสบดี | 08:00 - 17:00 |
ศุกร์ | 08:30 - 17:00 |