Triam Udom Suksa School
Official Triam Udom Suksa School Page.
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
Triam Udom Suksa School (Thai: โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, pronounced [trīːəm ùʔdōm sɯ̀k.sǎː]) is a public school located in downtown Bangkok, Thailand. It admits upper-secondary students (mathayom 4–6, equivalent to grades 10–12) and has the largest yearly enrollment in the country. Founded in 1938 as a preparatory school for Chulalongkorn University, the school has long been regarded as one of the
อาจารย์ประโยชน์ แหลมทอง ต.อ. ๙ อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปกครอง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เวลาประมาณ ๙.๐๐ น. สิริอายุ ๙๒ ปี
เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ศาลา ๗ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร โดยมีกำหนดการดังนี้
วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
เวลา ๑๘.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมรอบที่ ๑
เวลา ๑๘.๓๐ น. สวดพระอภิธรรมรอบที่ ๒
วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
เวลา ๑๘.๓๐ น. สวดพระอภิธรรม
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
เวลา ๑๔.๐๐ น. ฌาปนกิจศพ
อาจารย์ประโยชน์ แหลมทองเป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นที่ ๙ สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิตจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ารับราชการที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยสอนวิชาเคมี ภายหลังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าตึก ๘ และผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปกครองตามลำดับจนเกษียณอายุเมื่อปี ๒๕๓๓
ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปกครอง อาจารย์ประโยชน์ได้รื้อฟื้นคณะกรรมการห้อง ๖๐ โดยจัดตั้งเป็นคณะกรรมการนักเรียน
หลังจากเกษียณอายุแล้ว อาจารย์ประโยชน์ยังมาร่วมกิจกรรมของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งไปร่วมกิจกรรมของนักเรียนเก่ารุ่นต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ภาพของอาจารย์สตรีผู้เปี่ยมด้วยเมตตาและรอยยิ้มเป็นที่จดจำของนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาทุกรุ่นที่เป็นลูกศิษย์
อาจารย์ประโยชน์ได้ฝากข้อคิดไว้แก่นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาว่า
“หวังว่านักเรียนคงมีส่วนร่วมในการรักษาความดีทั้งหลาย เพื่อให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาซึ่งเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคนมีเกียรติประวัติอันดีงามและมีความเป็นเลิศทั้งทางวิชาการและทางคุณธรรมตลอดกาล”
ขอกราบลาอาจารย์ด้วยความเคารพและอาลัยยิ่ง
(ขอขอบคุณภาพจากเพจต้นกล้าของแผ่นดิน)
อาจารย์ คุณหญิงสุชาดา (สุจริตกุล) ถิระวัฒน์ ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ., จ.ภ., ร.จ.พ., ภ.ป.ร.๔ ต.อ. ๑ ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาท่านที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๒๒) ถึงแก่อนิจกรรม
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ ณ ศาลาสีห์โสภณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยมีกำหนดการดังนี้
วันอังคารที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕
เวลา ๑๕.๐๐ น. รดน้ำศพ
เวลา ๑๗.๐๐ น. พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
เวลา ๑๘.๓๐ น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ
วันพุธที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๕
เวลา ๑๘.๓๐ น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ
วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๕
เวลา ๑๘.๓๐ น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ
วันศุกร์ที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๕
เวลา ๑๘.๓๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันเสาร์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๕
เวลา ๑๘.๓๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๕
เวลา ๑๘.๓๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันจันทร์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๕
เวลา ๑๘.๓๐ น. สวดพระอภิธรรมศพและบรรจุศพ
"แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนยังเวียนวน
คือความรักศักดิ์ตนทุกสมัย
ได้ชื่อว่า ต.อ. ย่อมพอใจ
พระเกี้ยวน้อยยิ่งใหญ่ตลอดกาล"
นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจำนวนไม่น้อยรู้จักบทประพันธ์นี้ของ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเป็นอย่างดี แต่อาจมีจำนวนไม่มากที่ทราบว่า ฯพณฯ ประพันธ์ขึ้นในวาระที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีอายุครบ ๔๐ ปี โดยบทประพันธ์ข้างต้นเป็นการตัดตอนมาส่วนหนึ่งจากบทประพันธ์เต็มที่ว่า
"เตรียมอุดมศึกษาวาระนี้
วัยสี่สิบพอดีจริงนะท่าน
นักเรียนเก่ากลับมาเป็นอาจารย์
บริหารโรงเรียนเปลี่ยนชุดไป
แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนยังเวียนวน
คือความรักศักดิ์ตนทุกสมัย
ได้ชื่อว่า ต.อ. ย่อมพอใจ
พระเกี้ยวน้อยยิ่งใหญ่ตลอดกาล"
นับจากนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยรุ่น ๑ สำเร็จการศึกษา
ปริญญาตรีได้มีนักเรียนเก่าตั้งแต่รุ่น ๑ กลับมารับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจำนวนมาก แต่ยังไม่เคยมีท่านใดขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ จนปี ๒๕๑๘ เมื่ออาจารย์ คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู ผู้อำนวยการชั้นพิเศษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสามัญศึกษา ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้อาจารย์ คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ ผู้อำนวยการชั้นพิเศษ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการชั้นพิเศษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแทน
อาจารย์ คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์หรือที่ปรากฏนามในทำเนียบนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยรุ่น ๑ ว่า เด็กหญิงสุชาดา สุจริตกุล เป็นนักเรียนเก่าท่านแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการและเป็นผู้อำนวยการท่านที่ ๕ ของโรงเรียน
ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๖๗ เป็นธิดาของพระพิบูลย์ไอศวรรย์ (เปรียบ สุจริตกุล) อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและนางโสภา พิบูลย์ไอศวรรย์ สมรสกับนายประพจน์ ถิระวัฒน์ อดีตประธานศาลฎีกา (ถึงแก่อสัญกรรม) มีบุตรธิดา ๔ คน
อาจารย์ คุณหญิงสุชาดาสำเร็จการศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ และเตรียมอุดมศึกษาปีที่ ๒ จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย โดยได้คะแนนรวมสูงสุด จากนั้นเข้าศึกษาปริญญาตรีในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต และได้ศึกษาต่อปริญญาโทอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ แต่ต้องยุติการศึกษา เพราะผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภายหลังได้ศึกษาด้วยตนเองจนสอบได้ประโยคพิเศษครูประถมและประโยคพิเศษครูมัธยม
ท่านเริ่มรับราชการครูเมื่อปี ๒๔๙๐ ที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ต่อมาได้ย้ายติดตามบิดาไปเป็นครูโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ระหว่างปี ๒๔๙๒-๒๔๙๖ โดยมีลูกศิษย์ที่ภาคภูมิใจมากคือ ดร.อรัญ ธรรมโน อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งได้กล่าวถึงท่านไว้ว่า “ผมขอยกเครดิตในความสำเร็จส่วนใหญ่ให้กับยอดเทรนเนอร์คนสำคัญของผมคือ อาจารย์ คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ อาจารย์ได้ทุ่มเททุกอย่าง ให้ความรู้ทางวิชาการ ให้ความรู้เกี่ยวกับอาจารย์ผู้ออกข้อสอบ ให้เคล็ดลับในการสอบ และที่สำคัญที่สุดคือ กำลังใจและความเมตตาที่มีอย่างเต็มเปี่ยม”
ครั้นสมรสแล้วท่านได้ย้ายติดตามสามีกลับมาเป็นครูที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศอีกครั้ง จนปี ๒๕๐๐ ได้ย้ายติดตามสามีไปสอนและเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสุรนารีวิทยา โดยเป็นครูวุฒิปริญญาท่านเดียวของจังหวัดนครราชสีมาในขณะนั้น และปี ๒๕๐๓ ได้ย้ายติดตามสามีไปสอนที่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง
ในปี ๒๕๐๖ ท่านย้ายกลับกรุงเทพมหานครมาเป็นครูที่โรงเรียนสตรีวิทยา โดยมีลูกศิษย์ท่านหนึ่งต่อมาเป็นอาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคือ อาจารย์วไลพรรณ พินทุนันท์
ระหว่างปี ๒๕๐๙-๒๕๑๘ ท่านได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ชั้นเอกและผู้อำนวยการชั้นพิเศษ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โดยในปี ๒๕๑๐ ได้ดำเนินโครงการทดลองหลักสูตรมัธยมแบบประสมที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยเป็นโรงเรียนแรกและมีความสำเร็จอย่างมาก
ในปี ๒๕๑๗ ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการจัดโรงเรียนราชประชาสมาสัยได้ขอให้ท่านทำหน้าที่อาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้งฝ่ายประถมศึกษาและฝ่ายมัธยมศึกษาอีกตำแหน่งหนึ่ง
ครั้นปี ๒๕๑๘ อาจารย์ คุณหญิงสุชาดาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการชั้นพิเศษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยเดินทางมารับตำแหน่งเมื่อต้นปี ๒๕๑๙
ท่านกล่าวถึงการรับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไว้ว่า “ครั้งแรกที่ข่าวนี้แว่วมาถึงนั้นสุดแสนจะตื่นตระหนก ถึงกับอุทานว่าจะลาออกละ ทั้งนี้ก็ด้วยจิตสำนึกที่ได้เทิดทูนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไว้สุดเอื้อม ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาท่านแรกและท่านต่อ ๆ มาทุกท่านก็ดำรงอยู่ในความทรงจำของศิษย์ด้วยความเคารพรักบูชา อย่างไรก็ดี เมื่อได้รับฟังคำชี้แจงเหตุผลจากท่านผู้ใหญ่จนพอคลายความวิตกลงไปได้บ้างแล้ว ก็หวนมาระลึกถึงหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เมื่อมีโอกาส ควรกลับมารับใช้แหล่งที่มีพระคุณจนเต็มสติกำลังความสามารถ จึงยินดีรับภารกิจครั้งนี้ด้วยความเต็มใจ”
ในการบริหารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาท่านได้กำหนดเอกลักษณ์ของโรงเรียนไว้ว่า “ความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรม” โดยมีผลงานเด่น อาทิ การจัดแผนการเรียนตามความถนัดของนักเรียน การจัดสอบสัมภาษณ์ผู้สมัครเข้าศึกษาทุกคน โดยให้กรอกประวัติส่วนตัวด้วยและท่านนำมาพิจารณาเอง เพื่อให้รู้จักนักเรียนและผู้ปกครอง การจัดสร้างห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องแนะแนว ห้องโสตทัศนศึกษา โรงพลศึกษา และศาลาดนตรีไทย (แทนห้อง ๖๐ หลังจากคณะกรรมการห้อง ๖๐ ยุบเลิกไป) ตลอดจนการจัดทุนรางวัลพระราชทานและทุนสงเคราะห์นักเรียนที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์
ท่านได้สืบสานภารกิจการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ๒) ต่อจากอาจารย์ คุณหญิงบุญเลื่อนผู้เป็นอาจารย์ของท่าน และได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ท่านแรกของโรงเรียน นอกจากนั้น ยังได้จัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้าด้วย
ในปี ๒๕๒๒ ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ครั้นปี ๒๕๒๔ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการจนเกษียณอายุในปี ๒๕๒๗
อาจารย์ คุณหญิงสุชาดาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎ ประถมาภรณ์ช้างเผือก ทุติยจุลจอมเกล้า จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ เหรียญจักรพรรดิมาลา และเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๙ ชั้นที่ ๔ เป็นบำเหน็จความชอบ
หลังจากเกษียณอายุท่านยังคงบำเพ็ญประโยชน์แก่ส่วนรวมอีกเป็นเอนกประการ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา การพัฒนาเด็กและเยาวชน และการสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งมาร่วมกิจกรรมและเป็นประธานในงานต่าง ๆ ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีอายุครบ ๗๐ ปี ท่านได้มอบคำประพันธ์ไว้ว่า
“สถาปนาครบ ๗๐ ปีทวีผล
มิ่งมงคลชาวเตรียมอุดมศึกษา
แหล่งเรียนรู้คู่เมืองประเทืองปัญญา
ด้วยบุญญามหาจุฬาลงกรณ์
ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
ผู้ทรงคุณสุดประเสริฐเลิศการสอน
กำหนดงานบริหารทุกขั้นตอน
ผลแน่นอนคือสัมฤทธิ์ผลิตคนดี
คุณธรรมเลิศเพริศวิทยาประชาชม
ล้วนนิยมส่งเสริมเพิ่มศักดิ์ศรี
ทั้งรุ่นน้องผองรุ่นศิษย์บรรดามี
ทุกวิถีเจริญรอยตามทางท่านเดิน
พระเกี้ยวน้อยคือสัญลักษณ์ประจักษ์ใจ
ปิ่นหทัยไทยทั้งมวลล้วนสรรเสริญ
ต่างมั่นหมายให้ลูกรักได้เผชิญ
ใช่บังเอิญขอเป็นศิษย์เตรียมอุดมฯ
เหตุนี้จึงมีเครือข่ายขยายเตรียมฯ
โรงเรียนเยี่ยมยอดนิยมอย่างเหมาะสม
ยึดแบบอย่างโรงเรียนพี่ศรีสังคม
ต่างชื่นชมอิ่มเอมปลื้มเปรมใจ
เพิ่มพูนพลันสถาบันเครือพระเกี้ยว
ที่เกี่ยวข้องสืบจากเตรียมฯ สุดสดใส
คุณภาพดีมีมาตรฐานรวดเร็วไว
จากผู้ให้ความสนับสนุนพร้อมจุนเจือ
ขอยกย่องเชิดชูผู้เปี่ยมเมตตา
เห็นคุณค่าการศึกษามาช่วยเหลือ
ขอผลบุญกุศลสร้างไว้ทุกเมื่อ
โปรดก่อเกื้อให้มีสุขทุกวันคืน
ให้เคราะห์ดีมีชัยไร้ทุกข์โศก
ประสบโชคผ่านพ้นภัยไม่ต้องฝืน
ชะตารุ่งชีวิตเรียบสงบราบรื่น
อายุยืนไม่น้อยกว่าร้อยปี”
อาจารย์ คุณหญิงสุชาดาถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบที่บ้าน เมื่อค่ำวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๕ สิริอายุได้ ๙๘ ปี
ขอกราบลาอาจารย์ คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาท่านที่ ๕ ด้วยความเคารพและอาลัยยิ่ง
อาจารย์สุนทรี (พงศ์อนันต์) สังขวาสี ต.อ. ๔ อดีตอาจารย์ ๓ ระดับ ๘ หัวหน้าหมวดวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ สิริอายุ ๙๕ ปี
เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาสุธีระ-ประจวบ พีชานนท์ วัดธาตุทอง โดยมีกำหนดการดังนี้
วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๕
เวลา ๑๕.๓๐ น. รดน้ำศพ
เวลา ๑๗.๐๐ น. พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
เวลา ๑๘.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันที่ ๑๙-๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๕
เวลา ๑๘.๓๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๕
เวลา ๑๙.๓๐ น. บรรจุศพ
อาจารย์สุนทรี (พงศ์อนันต์) สังขวาสีเป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นที่ ๔ สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ารับราชการที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยสอนวิชาภาษาอังกฤษ ภายหลังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหมวดวิชาภาษาอังกฤษจนเกษียณอายุเมื่อปี ๒๕๓๑
ขอกราบลาอาจารย์ด้วยความเคารพและอาลัยยิ่ง
กำหนดการพระราชทานเพลิงศพอาจารย์พิศวาส ยุติธรรมดำรง ม.ว.ม., ป.ช., ร.จ.พ. ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาท่านที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๕๑) ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันพุธที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔
วันพุธที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ถึงวันศุกร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕
เวลา ๑๗.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ ณ ศาลาบำเพ็ญกุศล วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ของดรับพวงหรีด)
วันเสาร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕
เวลา ๑๗.๐๐ น. พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
ขอกราบลาอาจารย์ด้วยความเคารพและอาลัยยิ่ง
อาจารย์ชุติพร ปาณะโส อดีตอาจารย์หมวดวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาถึงแก่กรรม สิริอายุได้ ๖๗ ปี
เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ศาลากุฏิ ๒๐๐๐ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยมีกำหนดการดังนี้
วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔
เวลา ๑๖.๓๐ น. รดน้ำศพ
เวลา ๑๘.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันศุกร์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ ถึงวันเสาร์ที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๔
เวลา ๑๘.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันอาทิตย์ที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๔
เวลา ๑๖.๐๐ น. ฌาปนกิจศพ ณ เมรุ ๒
ขอกราบลาอาจารย์ด้วยความเคารพและอาลัยยิ่ง
อาจารย์ส่องศรี รัชนีกร ท.ช., ท.ม., ร.จ.พ. อดีตอาจารย์ ๓ ระดับ ๘ หัวหน้าหมวดวิชาภาษาไทยและหัวหน้างานประชาสัมพันธ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาถึงแก่กรรม
เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ศาลา ๕ วัดเครือวัลย์วรวิหาร โดยมีกำหนดการดังนี้
วันจันทร์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔
เวลา ๑๖.๐๐ น. รดน้ำศพ
เวลา ๑๘.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันอังคารที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ และวันพุธที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔
เวลา ๑๘.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันพฤหัสบดีที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔
เวลา ๑๑.๐๐ น. ถวายภัตตาหารเพล
เวลา ๑๖.๐๐ น. ฌาปนกิจศพ
อาจารย์ส่องศรี รัชนีกรเกิดเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๙๒ สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิตจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสอบบรรจุเข้ารับราชการเป็นครู กรมสามัญศึกษาได้ อาจารย์ คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาให้มารายงานตัวที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จึงได้เริ่มรับราชการเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๕ ในตำแหน่งครูตรี โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ขณะโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยังใช้สถานที่ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยสอนวิชาภาษาไทยให้แก่นักเรียนบดินทรเดชาและนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา ครั้นโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ย้ายไปที่ตั้งปัจจุบัน อาจารย์มิได้ย้ายตามไปด้วย แต่ได้ย้ายตำแหน่งมาเป็นครูตรี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในปี ๒๕๑๘
อาจารย์ส่องศรี รัชนีกรได้รับมอบหมายให้สอนวิชาภาษาไทยแก่นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาทั้งแผนกวิทยาศาสตร์และแผนกศิลปะ รวมถึงเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาห้องเรียนและอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม ได้รับมอบหมายให้ช่วยสอนแก่นักเรียนโรงเรียนเครือข่ายและโรงเรียนที่มีความร่วมมือกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตลอดจนได้รับเชิญให้สอนทางสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา จึงมีลูกศิษย์นับหมื่นคนและเป็นที่รักของลูกศิษย์ ตลอดจนผู้ปกครอง เพื่อนครู และผู้บริหารที่ได้รู้จัก นอกจากนั้น ยังได้ดูแลโครงการพัฒนาความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา การจัดทำวารสารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รวมถึงห้อง ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล (ห้อง ๕๗) อีกด้วย
จากความสามารถในทางบริหาร อาจารย์ส่องศรี รัชนีกรได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าตึกศิลปะ หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ และหัวหน้าหมวดวิชาภาษาไทยซึ่งดำรงตำแหน่งนานถึง ๑๒ ปี นอกจากนั้น จากความสามารถในทางวิชาการ อาจารย์ส่องศรี รัชนีกรได้มีผลงานแต่งตำราวิชาภาษาไทยระดับมัธยมศึกษาและตำราเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยวิชาภาษาไทยหลายเล่ม รวมถึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ๓ ระดับ ๘ (ครูชำนาญการพิเศษ)
อาจารย์ส่องศรี รัชนีกรเคยกล่าวว่า “เมื่อแรกทำงาน รับเงินเดือน ๑,๒๕๐ บาท ไม่มั่นใจในตัวเอง แต่แน่ใจว่า ตั้งใจสอนเต็มที่” จากความมุ่งมั่นในการทำงานนี้อาจารย์ได้รับรางวัลครูดีเด่นและครูอาวุโสดีเด่นของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อาจารย์ไม่เคยขาดการไปส่งกำลังใจแก่นักเรียนที่เดินทางไปและกลับจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการและโครงงานวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ รวมทั้งการไปส่งกำลังใจแก่นักเรียนที่ได้รับทุนเล่าเรียนหลวง ทุนรัฐบาล และทุนอื่น ๆ ซึ่งเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ไม่ว่าต้องไปท่าอากาศยานกรุงเทพหรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเวลาใดก็ตาม ในการไปส่งกำลังใจดังกล่าวอาจารย์ยังเอาใจใส่นักเรียนที่ไปร่วมส่งกำลังใจแก่เพื่อนและกลับมาถึงโรงเรียนในเวลาเข้าเรียนแล้ว โดยอาจารย์ได้ขอให้ผู้ประกอบการในโรงอาหารขายอาหารให้แก่นักเรียนก่อนไปเข้าเรียน ขณะเดียวกันอาจารย์ไม่เคยขาดการสอน แม้ว่าต้องปฏิบัติงานอื่น ๆ ของโรงเรียนในฐานะหัวหน้าหมวดหรือหัวหน้างาน เพราะอาจารย์เห็นว่า การสอนสำคัญที่สุด และการสอนของอาจารย์นั้นมิได้จำกัดแค่การสอนความรู้ แต่รวมถึงการสอนคุณธรรม จริยธรรม และการดำรงตนในสังคมกว้างด้วย
เมื่ออาจารย์ส่องศรี รัชนีกรยังสอนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นักเรียนที่จะสอบแข่งขันเพื่อรับทุนเล่าเรียนหลวงและทุนรัฐบาล รวมถึงนักเรียนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งต้องมีการเขียนเรียงความมักนำสมุดเรียงความมาส่งตอนเช้าแล้วมารับตอนเย็น พร้อมรับฟังคำแนะนำการเขียนเรียงความ อาจารย์ตั้งใจพัฒนาทักษะการคิดและการเขียนให้นักเรียนทุกคนมีความพร้อมในการสอบ จึงอุทิศเวลาตรวจเรียงความและให้คำแนะนำอย่างละเอียด ถึงแม้อาจารย์ต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหมวดวิชาภาษาไทยและหัวหน้างานประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นภาระที่หนักอยู่แล้วในเวลาเดียวกัน หัวข้อแรกที่นักเรียนได้เขียนคือ “ความฝันของข้าพเจ้า” หลังจากเขียนได้แล้ว อาจารย์จะกำหนดหัวข้อใหม่ให้นักเรียนได้ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลงานของนักเรียนที่เขียนดีเข้าประกวด ผลงานที่ส่งประกวดนั้นได้รับรางวัลกลับมาทุกครั้ง ส่วนหนึ่งของการสอนเขียนเรียงความนอกเวลาเรียนของอาจารย์อันนับเป็นการเรียนรู้ตามอัธยาศัยได้บันทึกอยู่ในหนังสือ “สัมฤทธิผลด้านการเขียนของนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา” โดยอาจารย์กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือเล่มนั้นว่า “ทักษะที่สำคัญที่สุดในการเรียนวิชาภาษาไทยคือทักษะการเขียน เพราะต้องรวบรวมความคิดสำคัญนำมาเรียบเรียงตามหัวข้อที่กำหนดไว้ให้มีสาระน่าอ่าน การเขียนต้องอาศัยการฝึกหัดโดยสม่ำเสมอ ดังนั้น การสอนการเขียนต้องฝึกเป็นขั้นตอนตามลำดับ จนเกิดทักษะและเขียนได้”
สำหรับนักเรียนที่เป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในต่างประเทศซึ่งต้องขาดเรียนไป อาจารย์ส่องศรี รัชนีกรได้สอนชดเชยให้ด้วยตนเอง จนนักเรียนมีความพร้อมที่จะสอบกลางภาค เมื่อนักเรียนทุนกลับประเทศไทยมาเยี่ยมบ้านระหว่างปิดภาคเรียนและได้มาเยี่ยมอาจารย์ด้วย อาจารย์ก็ขอให้ช่วยเขียนบทความลงวารสารโรงเรียน เพื่อให้ความรู้แก่รุ่นน้อง วารสารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึงมีเรื่องน่าอ่านทุกฉบับ
ความอุทิศตนของอาจารย์ส่องศรี รัชนีกรมิได้ปรากฏแก่กลุ่มนักเรียนข้างต้นเท่านั้น หากปรากฏแก่ลูกศิษย์ทุกคนจากการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน อาจารย์จึงมาแต่เช้าและกลับเย็นถึงค่ำเสมอ อาจารย์พยายามไม่ขาดกิจกรรมของลูกศิษย์ที่เคยสอน ไม่ว่าเป็นห้องที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหรือไม่ เก้าอี้รับแขกของโต๊ะทำงานอาจารย์ไม่เคยว่างเว้นจากลูกศิษย์ เพราะศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันหมุนเวียนกันมาพูดคุยด้วยวันละหลายคน แม้เป็นวันหยุด แต่หากโรงเรียนมีกิจกรรม เช่น การประชุมผู้ปกครอง ก็ยังมีลูกศิษย์มาพูดคุยกับอาจารย์ ศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าบางคนมีปัญหาในการเรียน การทำงาน หรืออื่น ๆ เมื่อมาพูดคุยกับอาจารย์แล้ว จะได้รับคำแนะนำที่ดีกลับไปพร้อมกับกำลังใจ โดยอาจารย์มักพูดว่า “มันอาจจะดีก็ได้” ในงานคืนสู่เหย้าซึ่งสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา ในพระบรมราชูปถัมภ์จัดขึ้นอาจารย์ส่องศรี รัชนีกรเป็นผู้หนึ่งที่มีศิษย์เก่ามาคารวะตลอดเวลา อาจารย์ได้ฝากคำย้ำเตือนแก่นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาไว้ว่า “จงภูมิใจที่ได้เป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะรักษาชื่อเสียงและเกียรติภูมิของโรงเรียนไว้ตลอดไป”
อาจารย์ส่องศรี รัชนีกรเกษียณอายุเมื่อปี ๒๕๕๒ รวมเวลารับราขการในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ๓๗ ปี แต่อาจารย์ยังคงช่วยสอนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาต่ออีกหลายปี จนต้องยุติการสอนเพื่อไปดูแลมารดา อาจารย์ได้กล่าวความรู้สึกที่มีต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไว้ว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีค่าแก่ชีวิต เมื่อเรียนจบเริ่มการทำงานที่นี่ เป็นการเรียนอีกครั้งคือการเรียนรู้วิธีการทำงานให้มีคุณภาพ พูดกับนักเรียนด้วยความสุภาพ สอนหนังสือให้ดี ต้องเตรียมการสอน ต้องตรวจการบ้าน และที่สำคัญต้องมีเมตตาต่อนักเรียน เป็นคุณสมบัติที่ไม่ยาก ความมีเกียรติของการเป็นครูที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคือเป็นครูที่มีลูกศิษย์ และลูกศิษย์เป็นคนดี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ เป็นที่กล่อมเกลา ดัดนิสัย ให้ความรู้ และที่สำคัญที่สุดทำให้ดิฉันรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”
อาจารย์ส่องศรี รัชนีกรใช้เวลาหลังจากเกษียณอายุช่วยงานชมรมอาจารย์เก่าเตรียมอุดมศึกษาในฐานะกรรมการและท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงติดต่อกับลูกศิษย์ผ่าน Facebook อาจารย์เริ่มมีอาการป่วยมาระยะหนึ่ง โดยอยู่ในความดูแลของแพทย์ ต่อมาได้เข้ารับการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ สิริอายุ ๗๒ ปี
ขอกราบลาอาจารย์ด้วยความเคารพและอาลัยยิ่ง
(ขอขอบคุณภาพจากลูกศิษย์ของอาจารย์ส่องศรี รัชนีกร)
อาจารย์สิวลี (ปัทมดิลก) สนธยานนท์ อดีตอาจารย์ ๓ ระดับ ๘ รองหัวหน้าหมวดวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาถึงแก่กรรม
เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ศาลา ๕ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยมีกำหนดการดังนี้
วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔
เวลา ๑๖.๐๐ น. รดน้ำศพ
เวลา ๑๗.๐๐ น. พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
เวลา ๑๘.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันที่ ๒๔-๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๔
เวลา ๑๘.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๔
เวลา ๑๓.๐๐ น. พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุ ๑
อาจารย์สิวลี (ปัทมดิลก) สนธยานนท์สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ Diploma in Teaching English as a Second Language จากประเทศนิวซีแลนด์ ได้เข้ารับราชการที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยสอนวิชาภาษาอังกฤษ ภายหลังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าหมวดวิชาภาษาอังกฤษเป็นตำแหน่งสุดท้าย
ขอกราบลาอาจารย์ด้วยความเคารพและอาลัยยิ่ง
อาจารย์สุดา (ไล้สุวรรณ์) อันนานนท์ ต.อ. ๑๕ อดีตนายทะเบียนและอดีตอาจารย์ หมวดวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาถึงแก่กรรม
เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ศาลา ๑๔ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยมีกำหนดการดังนี้
วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔
เวลา ๑๖.๐๐ น. รดน้ำศพ
เวลา ๑๘.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันที่ ๓๑ พฤษภาคม-๑ มิถุนายน ๒๕๖๔
เวลา ๑๘.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔
เวลา ๑๗.๐๐ น. ฌาปนกิจศพ
อาจารย์สุดา (ไล้สุวรรณ์) อันนานนท์ เกิดเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๗๗ เป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นที่ ๑๕ หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ารับราชการที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเมื่อปี ๒๕๐๑ โดยสอนวิชาภาษาอังกฤษ และมีเพื่อนนักเรียนเตรียมอุดมศึกษารุ่นเดียวกันเป็นเพื่อนร่วมงาน ได้แก่ อาจารย์นิคม วงศ์วานิช ผู้ช่วยศาสตราจารย์บานชื่น ธนาคม อาจารย์พินิจ (โชติกุล) ถัดทะพงษ์ อาจารย์รวิวรรณ (ขลิบสุวรรณ) คงสำราญ และอาจารย์สุรีย์ ชลสวัสดิ์
อาจารย์สุดาเป็นที่รักของนักเรียน ได้ปฏิบัติราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะเป็นระยะเวลากว่า ๓๗ ปี จนเกษียณอายุเมื่อปี ๒๕๓๘ ในตำแหน่งนายทะเบียน แต่ยังกลับมาร่วมกิจกรรมของโรงเรียนและนักเรียนเก่าอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ สิริอายุได้ ๘๖ ปี
ขอกราบลาอาจารย์ด้วยความเคารพและอาลัยยิ่ง
อาจารย์พิศวาส ยุติธรรมดำรง ม.ว.ม., ป.ช., ร.จ.พ. ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาท่านที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๔๘-๒๕๕๑) ถึงแก่อนิจกรรม
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ ณ ศาลาบำเพ็ญกุศล วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดยมีกำหนดการดังนี้
วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔
เวลา ๑๖.๐๐ น. รดน้ำศพ
เวลา ๑๗.๐๐ น. พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ
วันศุกร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔
เวลา ๑๗.๐๐ น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ
วันเสาร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔
เวลา ๑๗.๐๐ น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพและบรรจุศพ
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างเคร่งครัด
ย้อนไปเมื่อปลายปี ๒๕๔๘ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต ๑ ได้มีคำสั่งย้ายอาจารย์พิศวาส ยุติธรรมดำรง ผู้อำนวยการโรงเรียนหอวัง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต ๒ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ผ่านไปไม่นานอาจารย์พิศวาสก็เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาอย่างเป็นทางการ ท่านกล่าวแก่ชาวเตรียมอุดมศึกษาในพิธีรับตำแหน่งว่า จะไม่ทำให้เสียนามสกุลยุติธรรมดำรงซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทาน
อาจารย์พิศวาสได้แสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไว้ดังนี้
“ดิฉันมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ให้นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นยอดด้านวิชาการ เป็นเยี่ยมด้านกิจกรรม และเป็นเลิศด้านคุณธรรม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นโรงเรียนชั้นนำของประเทศที่สร้างนักเรียนให้ก้าวล้ำสู่สากลโลกและสร้างบุคคลที่นำชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ จะสืบสานประเพณีและวิถีเตรียมฯ ให้ยั่งยืน จะรักษาเกียรติภูมิที่ครูและนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาทุกรุ่นได้สั่งสมไว้ให้ยืนยง จะเสริมสร้างเตรียมอุดมศึกษาให้ก้าวไปพร้อมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง จะสร้างสรรค์ความสุข สะดวก สบาย ทันสมัยให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีความพร้อมทุกด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้อให้นักเรียนเตรียมฯ มีพลังความคิด เพิ่มพูนความรู้ ก้าวทันสังคมโลกที่แปรเปลี่ยนไปทุกนาที และจำเป็นต้องพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรยากาศของโรงเรียนสดใส สวยงาม มีชีวิตชีวา เพื่อให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นสถาบันที่สมบูรณ์พร้อม เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง เพื่อให้นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาทุกคนได้จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาตามศักยภาพของตนเอง”
ตามประวัติอาจารย์พิศวาสสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนอัมพรไพศาล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชตามลำดับ เริ่มทำงานที่กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เมื่อสมรสแล้ว จึงติดตามสามีไปเป็นครูที่โรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ก่อนสอบบรรจุเข้ารับราชการเป็นครูตรี โรงเรียนสุรวิทยาคาร จังหวัดสุรินทร์ สอนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส เมื่อปี ๒๕๑๕ ปีถัดมาสอบเลื่อนระดับเป็นครูโทได้ที่ ๑ ของผู้เข้าสอบทั่วประเทศ ต่อมาย้ายติดตามสามีไปสอนที่โรงเรียนระยองวิทยาคม จังหวัดระยอง โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา โรงเรียนสตรีศรีน่าน จังหวัดน่าน และโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย จังหวัดศรีสะเกษตามลำดับ รวมทั้งได้ช่วยราชการกองการเจ้าหน้าที่ กรมสามัญศึกษาระหว่างปี ๒๕๒๑ ถึงปี ๒๕๒๒ และระหว่างปี ๒๕๒๖ ถึงปี ๒๕๓๕ ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กรุงเทพมหานครตามลำดับ อาจารย์พิศวาสได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนครั้งแรกที่โรงเรียนปทุมธานี “นันทมุนีบำรุง” จังหวัดปทุมธานี เมื่อปี ๒๕๓๘ และดำรงตำแหน่งถึงปี ๒๕๔๐ แล้วย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดน้อยนพคุณ กรุงเทพมหานคร ระหว่างปี ๒๕๔๐ ถึงปี ๒๕๔๑ ผู้อำนวยการโรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ระหว่างปี ๒๕๔๑ ถึงปี ๒๕๔๕ ผู้อำนวยการโรงเรียนหอวัง ระหว่างปี ๒๕๔๕ ถึงปี ๒๕๔๘ และผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในปี ๒๕๔๘ จนเกษียณอายุในปี ๒๕๕๑ ท่านกล่าวถึงการบริหารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไว้ว่า รู้ว่าเวลาที่จะได้บริหารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษามีเพียง ๒ ปีเศษ จึงตั้งใจจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกเตรียมอุดมศึกษา ครูเตรียมอุดมศึกษา และบุคลากรทุกคน ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎ ประถมาภรณ์ช้างเผือก และเหรียญจักรพรรดิมาลาเป็นบำเหน็จราชการ
อาจารย์พิศวาสเอาใจใส่การพัฒนาวิชาการของโรงเรียนมาก ท่านได้ปรับปรุงห้องคณิตศาสตร์ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และห้องโครงงานวิทยาศาสตร์ จัดทำห้องปฏิบัติการเคมีนาโนเทคโนโลยี จัดซื้อตำราจากต่างประเทศเข้าศูนย์สอวน. วิชาฟิสิกส์ ปรับปรุงห้อง Smart School ติดตั้ง Interactive Whiteboard ในห้องเรียนรวมของตึก ๕ ตึก จัดงาน ๗๐ ปีเตรียมอุดมศึกษาวิชาการ สนับสนุนโครงการโอลิมปิกวิชาการ ตลอดจนส่งเสริมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษานั้นนักเรียนได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการครบ ๕ สาขาวิชา (คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และคอมพิวเตอร์) และเป็นจำนวนมากที่สุด ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงครบ ๙ ทุนเป็นครั้งแรก ได้รับทุนรัฐบาลไทยและทุนรัฐบาลต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ตลอดจนได้รับรางวัลจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลกหลายรางวัลและ NASA ได้นำชื่อของนักเรียนผู้ได้รับรางวัลไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อย ความเอาใจใส่ของท่านนั้นรวมไปถึงการให้กำลังใจแก่อาจารย์และนักเรียนด้วย ท่านไม่เคยขาดการไปส่งและการไปรับผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการและประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่ว่าเป็นเวลาใด โดยเฉพาะในการไปรับนักเรียนนั้นท่านพานักเรียนออกจากบริเวณสายพานรับกระเป๋ามาพบผู้แทนโรงเรียนและผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งสื่อมวลชนที่รออยู่ด้วยตนเอง ท่านได้ขอให้ผู้รับผิดชอบแจ้งผลการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการให้ทราบ ถึงแม้เป็นเวลาที่ท่านเข้านอนแล้ว การให้กำลังใจของท่านยังหมายถึงการดูแลนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยซึ่งต้องขาดเรียนระหว่างเข้าอบรม ท่านได้อนุญาตตามที่กลุ่มบริหารวิชาการเสนอให้นักเรียนสามารถเลื่อนสอบกลางภาคและสอบปลายภาคไปจนกว่าจะพร้อม โดยให้กลุ่มบริหารวิชาการจัดสอบและให้หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ จัดสอนชดเชยให้แก่นักเรียนที่ต้องการด้วย น้ำใจของอาจารย์พิศวาสได้เผื่อแผ่ไปจนถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ตลอดจนผู้ปกครองของนักเรียนด้วย
อาจารย์พิศวาสภูมิใจในความสำเร็จต่าง ๆ มาก แต่ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาต่อ ท่านได้กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมทุกครั้ง เมื่อปรากฏข้อห่วงใยต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องความสามารถของโรงเรียน
เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) มีพระราชดำริเกี่ยวกับการสอนภาษาสเปน อาจารย์พิศวาสได้รับพระราชดำริมาเปิดแผนการเรียนภาษา-สเปนในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเมื่อมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ อาจารย์พิศวาสก็ได้รับพระราชดำริมาดำเนินโครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ร่วมกันกับคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์พิศวาสยังได้ริเริ่มโควตาวิชาการ โดยต.อ.๗๐ เป็นรุ่นแรก รวมทั้งแก้ไขปัญหาสถานที่จัดสอบเข้าศึกษาต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยย้ายไปสอบรวมกันที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี
ในปี ๒๕๔๙ อาจารย์พิศวาสได้จัดรายการเตรียมอุดมศึกษาร่วมใจเทิดไท้ทวิมหาราชาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๙ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ โดยนำรายได้ไปพัฒนาโรงเรียน ในรายการนี้เองท่านได้จัดทำเพลง ๓ เพลง ได้แก่ ปิ่นหทัย คุรุบุปผชาติ และขาสองต้องยืนหยัด ๒ เพลงหลังนั้นมาจากบทประพันธ์ของ ฯพณฯ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และก่อนเกษียณอายุท่านได้จัดทำหนังสือ ๗๐ ปีเตรียมอุดมศึกษาไว้เป็นอนุสรณ์ด้วย
ผลงานเด่นของท่านอีกประการหนึ่งคือ การปรับปรุงอาคารสถานที่ในโรงเรียน ข้อพิพาทเกี่ยวกับการก่อสร้างตึกเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษาบรมราชินีนาถยุติลงในระหว่างที่ท่านทำหน้าที่บริหาร บัววิคตอเรียในสระน้ำและคูบัวกลับมาอีกครั้งในช่วงเวลานั้น ศาลาพระเกี้ยวแก้วก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นเช่นกัน การปรับปรุงห้องน้ำในโรงเรียนโดยท่านเป็นประโยชน์แก่อาจารย์และนักเรียนมากจนมีส่วนทำให้นักเรียนส่งเรียงความเรื่องส้วม...สุดยอดเข้าประกวดในการประชุมส้วมโลก พ.ศ. ๒๕๔๙ (World Toilet Expo and Forum 2006: Bangkok) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพแล้วได้รับรางวัลกลับมา นอกจากนั้น ท่านยังได้ปรับปรุงลานจามจุรีศรีโพธิ์ ปรับปรุงสนามบาสเก็ตบอลหน้าตึก ๙ เป็นลานอเนกประสงค์ ๗๐ ปี ต.อ. ปรับปรุงลานระหว่างด้านหลังหอประชุม ลานจามจุรีศรีโพธิ์ และสนามบาสเก็ตบอลหน้าตึก ๙ ปรับปรุงเวทีหน้าตึก ๖๐ ปี และปรับปรุงสนามกีฬาต่าง ๆ ป้ายชื่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่หายไปจากทางเข้าฝั่งถนนอังรีดูนังต์นานหลายปีก็กลับมาอีกครั้งในรูปแบบที่ดีกว่าเดิม โรงอาหารชั่วคราวหน้าตึก ๕๐ ปีและ ๕๕ ปีได้กลายเป็นโรงอาหารโดมทอง และท่านได้ติดตั้งตู้จัดแสดงรางวัลด้านหลังห้องเกียรติยศด้วย
อาจารย์พิศวาสเอาใจใส่นักเรียนมาก ท่านมักขับรถกอล์ฟตรวจตราภายในบริเวณโรงเรียน ท่านได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วโรงเรียน นอกจากนั้น ยังได้จัดซื้อรถโดยสารของโรงเรียนคันใหม่และปรับปรุงทางเดินทั่วโรงเรียนซึ่งรวมถึงการซ่อมแซมโคมไฟบนเสาไฟตามทางเดินด้วย เมื่อนักเรียนแสดงความคิดเห็นว่า ต้องการโคมไฟแบบเดิม ท่านก็พยายามจัดหาให้ใกล้เคียงที่สุด
อาจารย์พิศวาสก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี ท่านได้จัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ภายในโรงเรียน ปรับปรุงโปรแกรมทะเบียนวัดผล ติดตั้งอินเทอร์เน็ตไร้สายทั่วโรงเรียน และเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตของโรงเรียน ผลงานด้านเทคโนโลยีนี้เองทำให้ท่านได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้เป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หลังจากเกษียณอายุแล้ว
อาจารย์พิศวาสเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ๓ ปี แต่มีผลงานนานัปการและผูกพันกับโรงเรียนมาก หลังเกษียณอายุแล้ว ท่านไม่เคยขาดกิจกรรมของโรงเรียน ไม่ว่างานวันคล้ายวันเกิด งานเกษียณอายุ งานคืนสู่เหย้า หรืองานอื่น ๆ ถึงแม้อยู่ระหว่างรักษาอาการเจ็บป่วย
เมื่ออาจารย์ของโรงเรียนจากไป แม้ว่าอาจารย์พิศวาสเกษียณอายุแล้ว แต่หากไปร่วมงานสุดท้ายของอาจารย์ผู้จากไปได้ ก็มักพบท่านในงาน
อาจารย์พิศวาสจากไปอย่างสงบในวันพุธที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ สิริอายุได้ ๗๓ ปี
ขอกราบลาอาจารย์พิศวาส ยุติธรรมดำรง ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาท่านที่ ๑๑ ด้วยความเคารพและอาลัยยิ่ง
อาจารย์ หม่อมราชวงศ์พันธุ์นิวัทธ์ เกษมสันต์ ท.ช., ท.ม., ภ.ป.ร.๔ อดีตอาจารย์ ๓ ระดับ ๘ หัวหน้าหมวดวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาถึงแก่กรรม
เจ้าภาพตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ศาลา ๑๐ วัดมกุฏกษัตริยาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมีกำหนดการดังนี้
วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๔
เวลา ๑๗.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
เวลา ๑๘.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันที่ ๑๐-๑๒ มกราคม ๒๕๖๔
เวลา ๑๙.๐๐ น. สวดพระอภิธรรมศพ
วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๔
เวลา ๑๗.๐๐ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ
ขอกราบลาอาจารย์ด้วยความเคารพและอาลัยยิ่ง
(ขอขอบคุณภาพจากนักเรียนเก่า Nath Kornsritipa ซึ่งลงไว้ในกลุ่มเตรียมอุดม วัน เดือน ปี ที่ผ่านมา)
ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาท่านใหม่
อาจารย์ ดร.วรรณดี นาคสุขปาน ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะเชี่ยวชาญ โรงเรียนสตรีวิทยา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตั้งแต่วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๓
ประวัติการศึกษา
- ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (การจัดการศึกษา) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
- ครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการทั่วไป) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- ครุศาสตรบัณฑิต (ศิลปศึกษา) วิทยาลัยครูสวนดุสิต
ประวัติการรับราชการ
พ.ศ. ๒๕๖๓-ปัจจุบัน ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
พ.ศ. ๒๕๖๑-๒๕๖๓ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา
พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๑ ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๙ ผู้อำนวยการโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๒ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดน้อยนพคุณ
พ.ศ. ๒๕๔๙-๒๕๕๐ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสระเกศ
พ.ศ. ๒๕๔๗-๒๕๔๙ รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบวรนิเวศ
พ.ศ. ๒๕๔๔-๒๕๔๗ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนสุวรรณสุทธารามวิทยา
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
- ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
คลิกที่นี่เพื่อเป็นสมาชิก?
ประเภท
เว็บไซต์
ที่อยู่
227 Phayathai Road, Pathum Wan District
Bangkok
10330
เวลาทำการ
จันทร์ | 08:30 - 16:30 |
อังคาร | 08:30 - 16:30 |
พุธ | 08:30 - 16:30 |
พฤหัสบดี | 08:30 - 16:30 |
ศุกร์ | 08:30 - 16:30 |
เสาร์ | 08:30 - 16:30 |
อาทิตย์ | 08:30 - 16:30 |
98/3 ซอย ประชาอุทิศ 54 แยก 9 แขวง บางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร
Bangkok, 10140
TALEEMUDDEEN Kindergarten Muslim School Provide Best Quality Education in town under Supervision of Well Trained high professional teachers & Academic Staff. We Believe to Serve Qu...
Bangkok, 10300
โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ (ISMC) Intensive Science Mathematics Classroom
257 Charoen Nakhon Road, Khwaeng Samer, Thon Buri, Bangkok Thai
Bangkok, 10600
ខ្ញុំបាទបង្កើតpageនេះឡើងដើម្បីបង្ហាញពីទិដ្ឋភាពស្រុកស្រែចម្ការជួយLike pageម្នាក់1ផងណា!
587 ถนนฉลองกรุง 1
Bangkok, 10520
โรงเรียนวัดปลูกศรัทธา สังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
1313, Pracharat Sai1 Road, Bang Sue
Bangkok, 10800
+The First English Program in Thailand+ Education to International Standard while Maintaining and Preserving Thai Culture
1 Chalong Krung Road, Lad Khabang
Bangkok, 10520
KMIDS is a new and invigorating international school in the Kingdom of Thailand, situated in one of South East Asia’s most vibrant and prominent cities.
94 โรงเรียนสุวรรณพลับพลาพิทยาคม
Bangkok, 10170
ปลอดการบ้าน ลดการบรรยาย เน้นกระบวนการกลุ่ม เสริมทักษะศตวรรษที่ 21
บ้านหนองขุ่น ตำบลค้อทอง อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
Bangkok, 34150