(1)
"กำเนิดเจียวกี่ "
“นายเจียวพงษ์ แซ่ห่าน (หาญสกุล)” เกิดและเติบโตในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ประเทศจีน ก่อนจะอพยพเข้ามาทำมาหากินในเมืองไทย มีโอกาสแสดงฝีมือการทำอาหารคาวหวานทั้งไทย จีน และฝรั่ง จนกระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เข้าไปเป็น "กุ๊ก"ในวังปารุสก์ ของ จอมพลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ (ในรัชกาลที่ 6) เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนได้รับฉายา "กุ๊กจมูกแดง"
ต่อมาประมาณปีพศ. 2465 นายเจียวพงษ์ และครอบครัวได้โยกย้ายถิ่นฐานมาปักหลักที่เมืองอุบลราชธานี และเปิดโรงแรมชื่อ “เจียวกี่” ขึ้นที่ริมถนนเขื่อนธานี และต่อมาได้ปรุงอาหารเช้ารสเลิศบริการลูกค้าทุกระดับ สืบทอดกิจการมาถึงรุ่นลูกและรุ่นหลานในปัจจุบัน
(2)
"จากอุบลราชธานี..สู่ศรีสะเกษ"
ช่วงประมาณ พ.ศ. 2485 เกิดภาวะผันผวนของสถานการณ์บ้านเมือง นายเจียวพงษ์ได้อพยพครอบครัวมาอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษและได้เปิดร้านเจียวกี่ ขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่บริเวณวงกลมหลังสถานีรถไฟศรีสะเกษ ซึ่งปัจจุบันคือ วงเวียนแม่ศรีฯ หลังจากที่เหตุการณ์สงบลง นายเจียวพงศ์ ได้ย้ายกลับไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีตามเดิม และได้มอบให้ “นายบุ่นเคง แซ่ด่าน” เพื่อนรักที่อพยพมาจากประเทศจีนด้วยกัน กับ “นางกิมหลั่น” ภรรยา ซึ่งเป็นญาติผู้น้องของนายเจียวพงษ์ เป็นผู้ดำเนินกิจการร้านเจียวกี่ ศรีสะเกษ สืบต่อไป
(3)
“เจียวกี่ ศรีสะเกษ รุ่นสอง”
หลังจากนายบุ่นเคงเสียชีวิต กิจการร้าน “เจียวกี่” ที่วงเวียนแม่ศรี ได้สืบทอดต่อโดยบุตรสาว “เจ๊อ่าง” (นางสำอางค์ นิศยันต์) โดยให้บริการน้ำชา กาแฟ ปาท่องโก๋ ในตอนเช้า และเริ่มมีก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ข้าวเหนียว ส้มตำ ในตอนกลางวัน เพื่อให้บริการคนแถวนั้น คุณน้าจันทร คูรานา อดีตอาจารย์โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ได้พูดถึงความทรงจำไว้ว่า " ...อาคารหลังแรกอนุสรณ์แห่งความอร่อยในอดีต คนรุ่นเก่าๆจะจำรสชาติ อร่อยของฝีมือเจ๊อ่างได้ ไม่ว่าจะเป็น หมูสเต๊ะ ก๋วยเตี๋ยวเจียวกี่ ของหวาน จำได้ว่าได้กินสลิ่มครั้งแรกในชีวิต ก็ร้านนี้แหละ..."
กิจการร้านเจียวกี่เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ เมื่ออาคารไม้สองชั้นหลังแรก ที่สร้างตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มเสื่อมโทรม จึงได้มีการปรับโฉมใหม่โดยรื้ออาคารไม้หลังเดิมออกและสร้างเป็นอาคารพาณิชย์สามชั้นขึ้นแทนที่ และครั้งนี้ได้พี่สาวคนโตของเจ๊อ่าง คือ "เจ๊เนี้ยว" (นางพรพิมล หาญสกุล) ซึ่งเป็นสะใภ้คนโตของนายเจียวพงษ์ หาญสกุล ต้นตระกูลของร้านเจียวกี่ ที่อุบลราชธานี มาช่วยดำเนินการ โดยในครั้งนี้ ได้ปรับปรุงรูปแบบการบริการ เพิ่มเมนูอาหารเช้าสูตรเดียวกันกับที่ เจียวกี่ อุบลราชธานี
“เจียวกี่” ทั้งที่จ.อุบลราชธานี และจ.ศรีสะเกษ ให้บริการอาหารเช้ารสเลิศ ด้วยคุณภาพและมาตรฐานอาหารที่สะอาด อร่อย สืบทอดมาจากสูตรอาหารและรสมือของบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน และจากการบริหารโดยรุ่นดั้งเดิม สู่รุ่นลูก มาถึงรุ่นหลาน จนกลายเป็นร้านอาหารเช้าประจำเมืองที่เป็นหน้าเป็นตาของทั้งสองจังหวัด
ประมาณปีพ.ศ.2536 เป็นต้นมา ร้านเจียวกี่ ที่จ.ศรีสะเกษหยุดให้บริการ เนื่องจาก “เจ๊เนี้ยว” เจ็บป่วยและ “เจ๊อ่าง” ไม่มีเวลาดูแลกิจการ เมื่อปลดป้าย “เจียวกี่”ลง อาคารที่ตั้งร้านเดิม ได้ให้ผู้ประกอบการอาหารเช้ามาเปิดขายสืบเนื่องกันมาหลายราย แต่ไม่เคยอนุญาตให้ผู้ใดใช้ชิ่อ “เจียวกี่” ในการขายหรือให้บริการอาหาร เพราะผู้มาเช่าทั้งหลายเหล่านั้นไม่ใช่ลูกหลานของบรรพบุรุษเจียวกี่ และไม่ได้มีหรือใช้สูตรในการปรุงอาหารตามต้นตำรับของ “เจียวกี่” ดั้งเดิม
(4)
"การกลับมาของเจียวกี่"
นับจาก พ.ศ. 2485 เป็นต้นมา เวลาผันผ่านมากว่า 70 ปี จากห้องแถวไม้เก่า 2 ชั้น มาเป็นอาคารพาณิชย์สูง 3 ชั้น ด้านหน้ากว้าง 6 คูหา ที่คุ้นตาผู้คนที่ผ่านไปมาบริเวณวงเวียนแม่ศรี บัดนี้รุ่นหลานของบรรพบุรุษ “เจียวกี่” คือ "คุณเจี๊ยบ (พนิดา ศักดิเศรษฐ์) บุตรสาวของ เจ๊อ่าง ได้เป็นตัวแทนของลูกหลานเจียวกี่ ศรีสะเกษ เข้ามาปรับปรุงอาคารสถานที่ ฟื้นฟูให้คงเอกลักษณ์ความเป็น “เจี่ยวกี่” ดั้งเดิม พร้อมการให้บริการที่ทันสมัย มุ่งเน้นรักษา รสชาติดั้งเดิม และคุณภาพขิองร้านทั้งความสะอาด การบริการ ภายใต้การควบคุมดูแลของ “เจ๊อ่าง” ขณะเดียวกันได้ปรับเพิ่มเมนูอาหารให้มีความหลากหลาย เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าทุกเพศทุกวัย ด้วยราคาที่เหมาะสม เพื่อชาวเมืองศรีสะเกษ นักท่องเที่ยว และแขกบ้านแขกเมืองอย่างแท้จริง
อนึ่ง ร้านเจียวกี่ทั้งสองจังหวัด เป็นของลูกหลานนายเจียวพงษ์และนายบุ่นเคงเท่านั้น ไม่เคยมีสาขาที่อื่นใดอีก และไม่เคยขาย หรือให้เช่าชื่อ หรืออนุญาตให้ผู้อื่นนำชื่อ “เจียวกี่” ไปใช้หรือดัดแปลงต่อเติมชื่อในทุกกรณี
//
"เจียวกี่"เป็นคำภาษาจีนไหหลำ
"เจียว" แปลว่า โดดเด่น สุดยอด
"กี่" แปลว่า ความประทับใจ
"เจียวกี่" หมายถึง ร้านอาหารของนายเจียวพงษ์และลูกหลาน และยังหมายถึง ความเป็นร้านอาหารที่มีรสชาติ อร่อย โดดเด่น อย่างมีระดับ เป็นที่ประทับใจและจดจำของผู้มาลิ้มรสด้วย
//